คลิปวีดีโอการแสดงของภาคอีสาน
การแสดงเซิ้งโปงลาง
การแสดง เซิ้งลำเพลิน
ฟ้อนหมากกั๊บแก้บ-ลำเพลิน
ฟ้อนภูไทกาฬสินธุ์
เซิ้งภูไท 3 เผ่า
ฟ้อนสาวไหม
ฟ้อนเต้ยเกี้ยว
ดังนั้นแล้ว การแสดงประจำภาคอีสานมีอีกมากมายหลายแบบอย่างที่เกี่ยวกับการฟ้อน การเซิ้ง ลำเพลิน กลอนกลอน เป็นต้น จากที่เอามาให้เป็นข้อมูลนั้น คือการเซิ้ง และฟ้อน ตามประเพณีด้านต่างๆ
แหล่งที่มาของข้อมูล
http://www.youtube.com/watch?v=3qjHFG2d1oM
http://www.youtube.com/watch?v=1XvIxGIZlhs
http://www.youtube.com/watch?v=7QIQ58aHhcQ
http://www.youtube.com/watch?v=OvYAYmlQXSc
http://www.youtube.com/watch?v=DVo0kxLSBxY
วัฒนธรรมประเพณีการแสดงของภาคอีสาน
ภาคอีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถแบ่งเรื่องการละเล่นพื้นเมืองได้ เป็น 2 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มอีสานเหนือ ซึ่งสืบทอดวัฒนธรรมมาจากกลุ่มวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง ที่เรียกว่า กลุ่มไทยลาว หรือกลุ่มหมอลำ หมอแคน ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่มีมากที่สุดในภาคอีสาน
2. กลุ่มอีสานใต้ แบ่งออกได้อีก 2 กลุ่ม คือ
• กลุ่มที่สืบทอดวัฒนธรรมเขมร - ส่วย หรือที่เรียกว่า "กลุ่มเจรียง - กันตรึม"
• กลุ่มวัฒนธรรมโคราช หรือที่เรียกว่า "กลุ่มเพลงโคราช"
ถ้าพิจารณาถึงประเภทของเพลงพื้นเมืองอีสาน โดยยึดหลักเวลา และโอกาสในการขับร้องเป็นหลัก สามารถแบ่งออกได้ 2 กลุ่ม คือ
1. เพลงพิธีกรรม
• กลุ่มอีสานเหนือ ได้แก่ การลำพระเวสหรือการเทศน์มหาชาติ การแหล่ต่างๆ การลำผีฟ้ารักษาคนป่วย การสวดสรภัญญะ และการสู่ขวัญในโอกาสต่างๆ ฯลฯ
• กลุ่มอีสานใต้ ได้แก่ เรือมมม็วต เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งของชาวสุรินทร์ ซึ่งมีความเชื่อมาแต่โบราณว่า "เรือมมม็วต" จะช่วยให้คนที่กำลังเจ็บไข้ได้ป่วยมีอาการทุเลาลงได้ ผู้เล่นไม่จำกัดจำนวน แต่จะต้องมีหัวหน้าหรือครูมม็วตอาวุโสทำหน้าที่เป็นผู้นำพิธีต่างๆ และเป็นผู้รำดาบไล่ฟันผีหรือเสนียดจัญไรทั้งปวง
2. เพลงร้องเพื่อความสนุกสนาน
• กลุ่มอีสานเหนือ ได้แก่ หมอลำ ซึ่งแบ่งได้ 5 ชนิด คือ หมอลำพื้น หมอลำกลอน หมอลำหมู่ หมอลำเพลิน หมอลำผีฟ้า
• กลุ่มอีสานใต้ ได้แก่ กันตรึม เจรียง เพลงโคราช
ปัจจุบันมีการแสดงชุดใหม่ที่สถาบันต่างๆ ของภาคอีสานแต่ละกลุ่มได้ประดิษฐ์การฟ้อนรำขึ้นใหม่ ทำให้มีผู้แบ่งศิลปะการฟ้อนทั้งชุดเก่า และชุดใหม่ที่ปรากฏอยู่ของภาคอีสานออกเป็น 8 กลุ่มใหญ่ ซึ่งแต่ละกลุ่มจะออกมาในรูปของการแสดงพื้นเมือง ได้แก่
1. การฟ้อนเลียนกิริยาอาการของสัตว์ เช่น กระโนบติงตอง แมงตับเต่า และกบกินเดือน ฯลฯ
2. การฟ้อนชุดโบราณคดี เช่น ระบำบ้านเชียง รำศรีโคตรบูรณ์ ระบำพนมรุ้ง และระบำจัมปาศรี
3. การฟ้อนประกอบทำนองลำนำ เช่น ฟ้อนคอนสวรรค์ รำตังหวาย เซิ้งสาละวัน และเซิ้งมหาชัย
4. การฟ้อนชุดชุมนุมเผ่าต่างๆภูไท 3 เผ่า คือ เผ่าไทภูพาน รวมเผ่าไทยบุรีรัมย์ และเผ่าไทยโคราช
5. การฟ้อนเนื่องมาจากวรรณกรรม เช่น มโนห์ราเล่นน้ำ
6. การฟ้อนเซ่นสรวงบูชา เช่น ฟ้อนภูไท แสกเต้นสาก โส้ทั่งบั้ง เซิ้งผีหมอ ฟ้อนผีฟ้า ฟ้อนไทดำ เรือมปัลโจล ฟ้อนแถบลาน รำบายศรี เรือมมม๊วต เซิ้งบั้งไฟ เซิ้งนางด้ง รำดึงครกดึงสาก และเซิ้งเชียงข้อง ฯลฯ
7. การฟ้อนศิลปาชีพ เช่น รำตำหูกผูกขิก ฟ้อนทอเสื่อบ้านแพง เรือมกลอเตียล (ระบำเสื่อ) เซิ้งสาวย้อตำสาด รำปั้นหม้อ รำเข็นฝาย เซิ้งสาวไหม รำแพรวา เซิ้งข้าวปุ้น รำบ้านประโคก เซิ้งปลาจ่อม เซิ้งแหย่ไข่มดแดง และเรือมศรีผไทสมันต์ ฯลฯ
8. การฟ้อนเพื่อความสนุกสนานรื่นเริง เช่น เซิ้งแคน ฟ้อนชุดเล่นสาว เป่าแคน รำโปงลาง ฟ้อนกลองตุ้ม เซิ้งกะโป๋ เซิ้งทำนา เซิ้งสวิง เซิ้งกะหยัง รำโก๋ยมือ รำกลองยาวอีสาน ระบำโคราชประยุกต์ เรือมอันเดร เรือมซันตรูจน์ เรือมตลอก (ระบำกะลา) และเรือมจับกรับ ฯลฯ
ตัวอย่างการแสดงพื้นเมืองภาคอีสาน
* หมอลำอีสาน
หมอลำ แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ หมอลำผีฟ้า หมอลำพื้น หมอลำกลอน และหมอลำหมู่
เซิ้งโปงลาง
เซิ้งโปงลาง เป็นการแสดงของชาวไทยภาคอีสาน นิยมเล่นกันมากใน จังหวัดกาฬสินธุ์ การแสดงจะมีทั้งหญิงและชาย ใช้ท่ารำที่ประดิษฐ์ขึ้นตามทำนองเพลง อันเกิดจากความบันดาลใจ ด้วยลีลาแคล่วคล่องว่องไว ใช้ดนตรีโปงลางซึ่งเป็นเครื่องดนตรีทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ร้อยต่อกันเหมือนระนาดแต่ใหญ่กว่า
ใช้ผู้ตีสองคน คนตีคลอเสียงประสาน เรียกว่า ตีลูกเสิฟ และอีกคนตีเป็นทำนอง เรียกว่า ตีลูกเสพ มีจังหวะที่เร้าใจและสนุกสนาน เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของ เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง โปงลาง, แคน, พิณ, ซอ, ฉาบ, ฉิ่ง, กลอง
การแสดงฟ้อนรำภาคอีสาน
ฟ้อนหมากกั๊บแก้บ-ลำเพลิน
หมากกั๊บแก้บ(กรับ) เป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะของภาคอีสาน มีด้วยกัน 2 ประเภท คือ
1. กั๊บแก้บไม้สั้น เป็นไม้ผิวเรียบยาวประมาณ 4-6 นิ้ว
2. กั๊บแก้บไม้ยาว เป็นไม้ผิวเรียบมีการหยักร่องฟันปลา เพื่อขูดกันให้เกิดเสียง
การเล่นหมากกั๊บแก้บนั้น สามารถเล่นได้ทุกโอกาสที่มีการบรรเลงดนตรีพื้นบ้าน และผู้เล่นส่วนใหญ่มักจะแต่งกายเหมือนชาวอีสานโบราณ คือนุ่งผ้าเตี่ยวมีการสักลวดลายบนร่างกาย ปัจจุบันไม่นิยมการสักจึงมักจะใช้สีเขียนลวดลายขึ้นแทน เช่นลายเสือผงาด ลายหนุมานถวายแหวน ลายนกอินทรี ลายมอม ลายสิงห์ เป็นต้น
การเล่นหมากกั๊บแก้บ เป็นการเล่นที่ไม่มีรูปแบบตายตัว สุดแท้แต่ใครมีความสามารถในการแสดงออกถึงลีลาท่าทางที่โลดโผนให้เป็นที่ประทับใจของหญิงสาวได้มากน้อยเพียงใด หากเล่นกันเป็นคู่มีฝ่ายรุกฝ่ายรับ แล้วเปลี่ยนลีลาสลับกันก็ขึ้นอยู่กับโอกาสและปฏิภาณของผู้เล่น ลำเพลิน เป็นการขับลำอีกประเภทหนึ่งของชาวอีสาน สันนิษฐานว่าการขับลำเพลินมาจากการลำทำนองตีกลองน้ำเพราะจังหวะลีลาท่วงทำนองคล้ายคลึงกันมาก
หมอลำเพลิน ถือกำเนิดขึ้นมาในสมัยใดไม่สามารถระบุหลักฐานได้แน่ชัด แต่ก็เป็นทำนองกลอนลำที่นิยมกันอย่างกว้างขวางทั้งในภาคอีสานและประเทศลาว ตั้งแต่ พ.ศ.2505 จนถึงปัจจุบัน บางคนก็เรียกทำนองหมอลำชนิดนี้ว่าหมอลำแก้วหน้าม้า อันเนื่องมาจาก แต่เริ่มเดิมทีนั้นหมอลำเพลินนิยมเล่นเรื่อง “แก้วหน้าม้า” เพียงอย่างเดียว ในสมัยต่อมาก็มีการเล่นเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ซึ่งชาวอีสานจะนิยมเรียกว่า “ขุนแผน-ลาวทอง” เพราะนิยมเล่นตอนนางลาวทองเขียนสาสน์ ปัจจุบัน ลำเพลินพัฒนาตนเองไปอย่างรวดเร็ว จึงนิยมนำเอาวรรณกรรมและนิทานพื้นบ้านมาใช้เล่นกันอย่างกว้างขวาง
ความไม่พิถีพิถัน ของคณะหมอลำและผู้จัดการวงหมอลำในปัจจุบัน ทำให้ภาพลักษณ์ของหมอลำเพลิน เกือบจะสูญเสียความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นอีสานเพราะในขณะนี้หมอลำเพลินแทบทุกคณะนิยมนำเอาเครื่องดนตรีสากลมาใช้ในการบรรเลงเพลงประกอบการแสดงแทบจะไม่เหลือความเป็นขนบดั้งเดิมของหมอลำ กลอนลำที่ใช้ก็ไม่ไม้ถูกต้องตรงกับเนื้อเรื่อง มักจะลำไปเรื่อยๆตามคำกลอนของผู้เขียนเพลงจะคิดได้
จุดเด่นของการฟ้อนหมากกั๊บแก้บ-ลำเพลินอยู่ที่จังหวะลีลาท่วงทำนองดนตรี ประกอบกับท่าฟ้อนของชาวอีสาน เช่น ท่าถวยแถน ท่าหมาเยี่ยว ท่าลอยปลากระเดิด ท่าเสือตะครุบ ท่าดาวน้อย ท่าลำเพลินท่าบัวหุบ-บัวบาน ท่าส่าย ท่าเนิ้ง ฯลฯ ดนตรีบรรเลงลายแมงตับเต่า และทำนองหมอลำอัศจรรย์ลายลำเพลิน
การแต่งกาย
- ชาย สวมเสื้อยันต์แขนกุดสีขาวขอบชายเสื้อสีแดง นุ่งผ้าลายโสร่ง เป็นโจงกระเบนรั้งสูงถึงต้นขา ม้วนปลายผ้าสอดไปด้านหลัง (เรียกลักษณะการนุ่งผ้าเช่นนี้ว่า การนุ่งแบบเสือลากหาง) มัดศีรษะด้วยผ้าขาวม้า และมัดเอวด้วยผ้าขิด
- หญิง สวมเสื้อแขนกระบอก ห่มทับด้วยสไบขิด นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่ยาวคลุมเข่า ผมเกล้ามวยประดับมวยผมด้วยดอกไม้ และสวมเครื่องประดับเงิน
วีดีโอการฟ้อนหมากกับแก๊บ
ฟ้อนภูไทกาฬสินธุ์
ชาวภูไทดำในจังหวัดกาฬสินธุ์ อาศัยอยู่ในเขตอำเภอสหัสขันธุ์ อำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอเขาวง อำเภอคำม่วง และอำเภอสมเด็จ
การฟ้อนภูไทกาฬสินธุ์ เป็นการฟ้อนประกอบทำนองหมอลำภูไท ซึ่งเป็นทำนองพื้นเมืองประจำชาชาติพันธุ์ภูไท ซึ่งปกติแล้วการแสดงหมอลำภูไท มักจะมีการฟ้อนรำประกอบกันไปอยู่แล้ว ซึ่งทำให้การฟ้อนภูไทกาฬสินธุ์ในแต่ละอำเภอหรือหมู่บ้าน จะมีท่าฟ้อนที่แตกต่างกัน การฟ้อนภูไทกาฬสินธุ์ เป็นการฟ้อนที่ได้การปรับปรุงท่ามาจากท่าฟ้อนภูไท ท่าฟ้อนในเซิ้งบั้งไฟ และท่าฟ้อนดอนตาล ประกอบด้วยท่าฟ้อนไหว้ครู ท่าเดิน ท่าช่อม่วง ท่ามโนราห์ ท่าดอกบัวบาน ท่ามยุรี ท่ามาลัยแก้ว ฯลฯ ซึ่งผู้ฟ้อนจะเป็นผู้หญิงทั้งหมด ท่าฟ้อนของชาวภูไทได้ถูกรวบรวมโดย นายมณฑา ดุลณี ร่วมกับกลุ่มแม่บ้านชาวภูไทบ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นผู้คิดประดิษฐ์ท่าฟ้อนภูไทให้เป็นระเบียบ 4 ท่าหลัก ส่วนท่าอื่นๆนั้น คณะครูหมวดนาฏศิลป์พื้นบ้าน วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ เป็นผู้คิดประดิษฐ์โดยได้นำเอาการฟ้อนของชาวภูไทในจังหวัดกาฬสินธุ์ อาศัยอยู่ในเขตอำเภอเขาวง อำเภอกุฉินารายณ์ และอำเภอคำม่วง รวบรวมเอาไว้ด้วยกัน ซึ่งเมื่อเสร็จเรียบร้อย จึงได้ทำการแสดงครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2537 ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร
เครื่องดนตรี แบบดั้งเดิม ใช้ แคน กลองกิ่ง กลองตุ้ม กลองแตะ กลองยาว ฆ้องโหม่ง พังฮาด ไม้กั๊บแก๊บ สำหรับวงโปงลาง ใช้เครื่องดนตรีครบชุดของวงโปงลาง ลายเพลง ใช้ลายภูไทน้อย
การแต่งกาย
สวมเสื้อแขนกระบอกสีดำ แนวปกคอเสื้อและแนวกระดุมตกแต่งด้วยผ้าแถบลายแพรวาสีแดง กุ๊นขอบลายผ้าด้วยผ้ากุ๊นสีเหลืองและขาว ประดับด้วยกระดุมเงิน ห่มผ้าสไบไหมแพรวาสีแดง นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่ภูไทมีตีนซิ่นยาวคลุมเข่า ผมเกล้ามวยมัดมวยผมด้วยผ้าแพรมน หรือผ้าแพรฟอย และสวมเครื่องประดับเงิน
กลอนลำภูไทกาฬสินธุ์ (วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์)
โอยนอ.... ท่าน ผู้ฟังเอ้ย
บัดนี้ หันมาเว้า ทางภูไทกันตอนต่อ ขอเชิญพวกพี่น้อง ที่มาซ้อง ให้รับฟัง เจ้าเอ้ย เจ้าเอย
ชายเอ้ย เพิ่นว่าเมืองกาฬ์สินธุ์นี้ ดินดำ ดอกน้ำชุ่ม มีพ่องปลากุ่มบ้อน ดอกคือแข้เจ้าแก่งหาง
คันว่าปลานางบ้อน คือขางดอกฟ้าลั่น บัดว่าจั๊กจั่นฮ้อง ๆ ดอกคือฟ้าเจ้าล่วงบน อ้ายเอ้ย อ้ายเอย
ชายเอ้ย อันว่าเมืองกาฬ์สินธุ์นี้ มีของดี เจ้าหลายอย่าง ประเพณีบ่ว่าง บ่ลืมฮีตแม่นเก่าเดิม
ชายเอ้ย อันว่าเมืองฟ้าแดด สงยางถิ่นเก่า ถิ่นโบราณแต่เค้า อยากเชิญเจ้าไปเที่ยวชม อ้ายเอ้ย อ้ายเอย
ชายเอ้ย เชิญไปชมผืนผ้า ล้ำค่าแพรวาไหม ชื่อเสียงเขาดังไกล ส่าไปซุเมืองบ้าน
ส่วนว่าโปงลางนั่น ของสำคัญแต่เก่าก่อน ตาออนซอนบัดได้พ้อ ๆ บ่ลืมน้องผู้เดี่ยวโปง อ้ายเอ้ย อ้ายเอย
โอย.. นอ.... โอย... นา... สวยเลิงเลิง น้องนี่เอย... นา
ชายเอ้ย เที่ยวบ่เบื่อดอกเมืองฟ้า ขึ้นชื่อว่ากาฬสินธุ์ เมืองเสียงพิณ ลำปาว หมู่ไดโนเสาร์นั่น
ทั้งภูสิงห์ ภูค่าว ภูปอ ธาตุยาคู สิ่งศักดิ์สิทธิ์ดอกคู่บ้าน ๆ สถิตแน่นแม่นคู่เมือง อ้ายเอ้ย อ้ายเอย
ชายเอ้ย คันว่าสาวภูไทนี่ สาวผู้ดีที่เขาส่า สาวเขาวงนั่นนา ว่างามล้ำ ลื่นไผ แท้เด้
ชายเอ้ย สาวภูไทบัวขาวนั่น งามคือกันบ่ออ้ายว่า สาวคำม่วงพุ่นนา ๆ กะคือด้ามดั่งเดียว กันนา อ้ายเอย
ชายเอ้ย เว้ามาฮอดบ่อนนี้ น้องพี่สิลาลง ขอลาไลคืนเมือ สู่เมืองกาฬ์สินธุ์พุ้น
ขอขอบคุณเด้อลุงป้า อาวอา พ่อและแม่ บัดเมื่อคราวหน้าพุ้น ๆ คงสิได้ดอกพบกัน เจ้าเอ้ย เจ้าเอย
ฟ้อนแม่บทอีสาน
ความเป็นมา
ในปี พ.ศ.2522 วิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด ได้จัดตั้งขึ้นเป็นวิทยาลัยนาฏศิลป์แห่งแรกในภาคอีสาน เปิดทำการเรียนการสอนด้านวิชาสามัญ และดนตรีนาฏศิลป์ทั้งที่เป็นของราชสำนักและพื้นบ้านอีสาน โดยเฉพาะศิลปะพื้นบ้านอีสานได้เชิญหมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน มาสอนหมอลำ อาจารย์ทองคำไทยกล้า สอนเป่าแคน อาจารย์ทรงศักดิ์ ประทุมศิลป์ สอนโปงลาง โหวดและพิณ และอาจารย์ทองจันทร์ สังฆะมณี เป็นผู้สอนการฟ้อนรำ ในปีพ.ศ. 2523 นายชวลิต มณีรัตน์ ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด มีความเห็นว่า ท่าฟ้อนของคนอีสานนั้น ล้วนมีที่มาจากสิ่งต่างๆเช่น
1. มาจากการเคลื่อนไหวอิริยาบถของสัตว์ เช่น ท่าเสือออกเหล่า ท่าเต่าลงหนอง ท่ายูงรำแพน เป็นต้น
2. มาจากธรรมชาติ เช่น ท่าลมพัดพร้าว
3. มาจากวรรณกรรมท้องถิ่น เรื่องพระลัก-พระราม เช่น ท่าทศกัณฐ์โลมนาง ท่าหนุมานถวายแหวน
จึงควรนำท่าฟ้อนเหล่านนี้มาผนวกเข้าด้วยกัน แล้วจัดทำเป็นท่าแม่บทแบบมาตรฐานของอีสาน เพื่อใช้การเรียนการสอนด้านนาฏศิลป์พื้นเมือง และจะได้นำออกแสดงงานเผาเทียนเล่นไฟที่จังหวัดสุโขทัย ประมาณปี พ.ศ.2525จึงได้มอบหมายให้อาจารย์ฉวีวรรณ ดำเนิน(พันธุ) นายจีรพล เพชรสม ผู้ช่วยผู้อำนวยการและคณะครูศิลปะพื้นเมืองไปดำเนินการศึกษาค้นคว้าและเก็บข้อมูลท่าฟ้อนอีสาน จากหมอลำที่มีชื่อเสียงหลายๆท่าน เช่น หมอลำเคน ดาหลา หมอลำเปลี่ยน วิมลสุข หมอลำจันทร์เพ็ญ นิตะอินทร์ หมอลำสุบรรณ พะละสูรย์ และหมอลำชาลี ดำเนิน ผู้เป็นบิดาของอาจารย์ฉวีวรรณ ดำเนิน นอกจากนั้นยังได้ศึกษาท่าฟ้อนผีฟ้าอีกด้วย แล้วได้นำมารวบรวมเรียบเรียงท่าฟ้อนแล้วแต่งกลอนลำให้เสร็จสมบูรณ์ในเดือนเมษายน พ.ศ.2525แล้วได้นำออกแสดงงานเผาเทียนเล่นไฟที่จังหวัดสุโขทัย ประมาณปี พ.ศ.2525
วาดฟ้อนประกอบกลอนลำแม่บทอีสาน
อาจารย์ฉวีวรรณ ดำเนิน(พันธุ) ได้กล่าวถึงที่มาของท่าฟ้อนแม่บทอีสานว่า ได้รับการถ่ายทอดมาจาก หมอลำชาลี ดำเนิน ผู้เป็นบิดา นอกจากนั้น ก็ได้มาจากหมอลำอาวุโสที่มีชื่อเสียงซึ่งมีท่าฟ้อนสวยงามแปลกตา จึงได้มารวมกับท่าฟ้อนของตนที่มีอยู่แล้ว เขียนลำดับกลอนลำแม่บทอีสานขึ้นมา เพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอน และการแสดงซึ่งในแต่ละท่าที่ได้รวบรวมมานั้น ก็ได้มาจากหมอลำที่มีชื่อเสียง ดังนี้
1.ได้มาจากหมอลำชาลี ดำเนิน ผู้เป็นบิดา ถ่ายทอดให้ทั้งหมด 19 ท่า ได้แก่
- ท่าหยิกไหล่ลายมวย - ท่าลำเพลิน - ท่าตีกลองกินเหล้า - ท่าหงส์บินเวิ่น
- ท่าตาขำตีงัว - ท่าคนเมาเหล้า - ท่าอีแหลวบินเซิ่นเอาไก่น้อย - ท่าอีเกียจับไม้
- ท่าสาวน้อยประแป้ง - ท่าตำข้าว - ท่าเต่าลงหนอง - ท่ากาเต้นก้อน
- ท่าเสือออกเหล่า - ท่าฟ้อนอุ่นมโนราห์ - ท่าตุ่นเข้าฮู - ท่าช้างชูงวง
- ท่าเกี่ยวข้าวในนา - ท่าช้างเทียมแม่ - ท่าฟ้อนเกี้ยวซู้
2. ได้จากหมอลำเปลี่ยน วิมลสุข ประมาณ 10 ท่าได้แก่
- ท่าพรหมสี่หน้า - ท่าผู้เฒ่านั่งฟังธรรม -ท่าทศกัณฐ์โลมนาง - ท่าความเถิกใหญ่แล่นเข้าชนกัน
- ท่านกเจ่าบินวน - ท่าสักสุ่ม - ท่านับเงินตรา - ท่าไถนา - ท่ากวยจับอู่
- ท่าหนุมานถวายแหวน
3. ได้จากหมอลำเคน ดาหลา 8 ท่า ได้แก่
- ท่าแฮ้งหย่อนขา - ท่ากาตากปีก - ท่าหลีกแม่เมีย - ท่าปู่สิงหลาน
- ท่าลิงหลอกเจ้า - ท่าลายมวย - ท่าผู้เฒ่านั่งผิงไฟ - ท่าแข้แก่งหาง
4.ได้จากหมอลำจันทร์เพ็ญ นิตะอินทร์ 4 ท่า ได้แก่
- ท่าพายเฮือส่วง - ท่าคนเข็นฝ้าย - ท่ายูงรำแพน - ท่างมปลาในน้ำ
5.ได้จากหมอลำสุบรรณ พะละสูรย์ 6 ท่า ได้แก่
- ท่าลมพัดพร้าว - ท่าสาวลงท่ง - ท่าสาวแม่ฮ้างลงท่งถือหวิง - ท่าคนขาแหย่ง
- ท่ากินรีชมดอก - ท่าพิเภกถวยครู
6 . ได้จากหมอลำผีฟ้าในพิธีกรรม 1 ท่า คือ
- ท่าเลี้ยงผีไท้
กลอนลำแม่บทอีสาน
โดย หมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน
“แม่นว่านอนาย จั่งว่าฟังเด้อท่านทุกท่านที่รอฟัง บางทีกลอนบ่จังสิออกเป็นลอยฟ้อน
ทั้งโยะย่อนตามกลอนแอ่นฟัง เสียงแคนจ้าวๆยอขึ้นยกมือ
ท่าหนึ่งนั้น ชื่อพระนารายณ์ ยกแขนสีกายๆออกพรหมสี่หน้า
ท่านี้เผิ่นเอิ้นว่าทศกัณฐ์โลมนาง น้องมณโฑเอวบางลูบหลังลูบไหล่
มีท่าใหม่หย่างไปหย่างมาฮอดบ่หนีไกลตาเอิ้นช้างเทียมแม่
ยกมือขึ้นแก่แด่ท่าช้างชูงวง คือจั่งเอามือควงข้างพุ้นข้างพี่
ทำทรงนี้เอียงกานโยะย่อนเอิ้นว่า กาเต้นก้อน เทิงย้อนบ่เซา
เข้าท่านี้หยิกไหล่ลายมวย มีเทิงนวยเทิงแข็งคู่กันไปพร้อม ไผก็ยอมจั่งว่านอเฮาแล้ว มวยไทย ออกท่าขนมต้มผู้ให้ลายตั้งท่ามวย กวยขาซ้ายปัดป่ายขาหลัง บ่มีกลัวเกรงหยังท่ารำแนวนี้
ฟังทางพี้ยังมีท่าใหม่ ท่ามวยไทยกะแล้วยัง แฮ้งหย่อนขา
ท่าต่อมาเอิ้นว่า กาตาปีก
ฟ้อนจั่งซี้ฟ้อนหลีกแม่เมียให้ลูกเขยไปแหน่เอาไม้แหย่ไปนำ ข่อยสิไปฟังลำขอทางไปแหน่
คอยท่าฟังเด้อแม่ ลมพัดตีนภู เสียงมันดังวูๆ เอิ้น ลมพัดพร้าว
หนาวๆเนื้อคือ เสือออกเหล่า
ฟ้อนจั่งซี้ท่า เต่าลงหนอง
ฟ้อนจั่งซี้ ตีกลองกินเหล้า เทิงเมาเทิงฟ้อนนำกันเดินม่วน
ดังห่วนๆแห่บุญบั้งไฟ ฟ้อนกะฟ้อนบ่ไกลเขาเอิ้น คนขาแหย่ง
ยกมือขึ้นแป่งแซ่ง ตาขำตีงัว เอิ้นเป็นตาอยากหัวตาขำออกท่า
ฟังสิว่าท่าใหม่ยังมี จักสิดีบ่ดียังมีท่าใหม่ ท่านี่ ควายเถิกใหญ่แล่นเข้าชนกัน เทิงคึกเทิงดันหลังขดหลังโก่ง
ท่านี้ สาวลงท่ง แก่งแขนนวยนาย ล่ะเทิงเอียงเทิงอายผู้สาวลงท่ง
ท่าเฮ็ดหลังโก่งๆ เกี่ยวข้าว ในนา คือกับคนงมปลาหลังขดหลังโก่ง
ลำกลอนฟ้อนยังมีอีกต่อ คอยถ่าฟังเด้อพ่อ ท่า ตุ่นเข้าฮู
ท่าต่อมาเอิ้นพิเพกถวยครู เฮ็ดมือแนวนี้
มีลายฟ้อนหลายอันฟ้อนคู่เอิ้นว่าฟ้อน เกี้ยวซู้ วนอ้อมใส่กัน
ท่าฟ้อนนั้นออกท่าวางแขนเอิ้นว่า ยูงรำแพน แอ่นแขนเลยฟ้อน
เทิงโยะย่อนคือแหลวบินเวิ่น เขาเอิ้นว่า แหลวเซิ่นเอาไก่น้อย สอยได้เวิ่นหนี
ฟ้อนจั่งซี้ทำท่าสวยๆ ทำทรงสีนวยๆ เอิ้นสาวประแป้ง
เถิงยามแล้งเขาว่า ลำเลี้ยงข่วง คือจั่งคนป่วงบ้าเดินหน้าอย่างไว ลำเลี้ยงไท้ลงข่วงเป็นฝูง เกินสนุกหนอลุงท่ารำแนวนี้
มีเสียงพร้อมคือ พายเฮือส่วง ยามน้ำล่วงเดือนสิบสอง ฟังเสียงฉาบเสียงกลองดังมาแปดแป่ง
ฟังสิแบ่งท่าฟ้อนออกไป เฮ็ดมือสีไวๆท่า กวยจับอู่
ฟ้อนจั่งซี้เอิ้นปู่สิงหลาน เป็นน่าสงสารเทิงฮิกเทิงฮ่อน
ฟังเบิ่งก่อนท่าผู้เฒ่านั่งฟังธรรม ปากะจ่มไปนำมุมมู้มุมมับ เบิ่งเพิ่นนับ ผิดแต่หลับตา
ท่าต่อมาฟ้อนหมอลำหมู่
ไปฮอดลำหมู่เอิ้นว่าลำเพลินนุ่งกระโปรงเขินๆเทิงลำเทิงเต้น เห็นไหมท่าลำเพลินออกท่ายกขาขึ้นท่านี้กระดกซ้ายและขวา
มือไขว่คว้า ยกอยู่เทิงบน เขาเอิ้นหงส์บินวน เซิ่นบนเทิงฟ้า
หลับตาฟ้อนเดินสามถอยสี่ คันแม่นฟ้อนท่านี้ เมาเหล้าบ่ส่วงเซา
ท่านี้เจ้า ผู้เฒ่านั่งผิงไฟ ฮอดบ่หนีไปไกลยกมือขึ้นผ่าง
ยกมือขึ้นแล้วกะหย่างถอยไปถอยมา เทิงเล่นหูเล่นตาเอิ้น ลิงหลอกเจ้า
ฟังฉันเว้า เขาว่ารำลักสุ่มฮอดบ่มือจุ่มสักสุ่มหาปลา
ท่าต่อมาเอิ้น เกียจับไม้ใต้พุ่มหมากเล็บแมว
เทิงขาเทิงแอวสักกะรันตำข้าว ยามตอนเช้าสักกะรันเหยียบย่ำ
ท่าเฮ็ดหัวต่ำๆก้นขึ้นสูงๆ ท่านี้เด้อคุณลุง งมปลาในน้ำ
ยามงมได้หักคอเอามายัดใส่ข้องอยู่หนองน้ำท่งนา
รำท่านี้นกกระเจ่าบินวน ตามันเหลียวหาปลาทุ่งนาหนองม่อง
ท่านี้นวลนางน้อง กินรีชมดอก ออกมาชมเที่ยวเล่นดอกไม้กลิ่นหอม
พร้อมว่าแล้วยังมีท่าใหม่ยังมี นี่คนเข็นไหมแกว่งไวทางนี้หรือเข็นฝ้ายเดือนหงายลงข่วง พวกผู้สาวซ่ำน้อยคอยถ่าผู้บ่าวมา
ท่านี้สาวแม่ฮ้างลงท่งถือหวิง ไปเก็บหอยเก็บปูฮ้องหาเอากุ้ง จับหวิงได้เอาลงไปแกว่ง ตักข้างขวาข้างซ้ายหากุ้งอยู่หนอง
ท่านี้เด้อพี่น้องคือฮ้อง ไถนานี่คือลุงทิดสาไถนาหนองม่อง เทิงฮือเทิงฮ้องเชือกก็ฟาดไปนำ ปากกะจ่มพึมพำลุงสาลาวเหนื่อย
ฟ้อนบ่เมื่อยนี่คือจ้ำลายมวย ยกมือขึ้นถวยเวทีสี่ข้าง
ท่าเฮ็ดมือห่างๆนี่คือ นับเงินตรา ผู้นั่นบาทหนึ่ง ผู้ฟังบาทหนึ่ง ให้หมอแคนบาทหนึ่ง
ท่ากู้จู้กึ่งจึ่งนี่คือหนุมาน ทั้งหมอบเทิงคลานยอแหวนถวยไท้ เห็นหรือไม่หนุมานถวายแหวน ลำฟ้อนแบบใหม่
ได้เรียงไล่ท่าฟ้อนคือ แข้แก่งหาง ฮอดบ่ได้หยับหย่างไปไส แก่งหางไปหางมาท่ารำแนวนี้
มีลายฟ้อนมโนราห์ฟ้อนหมู่ แต่นางอยู่บ่ได้บินเจ้ยเวิ่นหนี ฟ้อนจั่งนี่ ท่าอุ่นมโนราห์ พรรณนาเป็นตอนบ่อนพอฟังได้ จำเอาไว้ รำมีหลายท่า ความเป็นมาจั่งซี้จำไว้อย่าหลง อย่าหลง เอ้ย จำไว้อย่าหลง”
………………………..
จากกลอนลำแม่บทอีสานจะเห็นได้วามีชื่อเรียกท่ากำกับทั้ง 48 ท่า ดังนี้
1. ท่าพรหมสี่หน้า 2. ท่าทศกัณฐ์โลมนาง 3. ท่าช้างเทียมแม่ 4. ท่าช้างชูงวง 5. ท่ากาเต้นก้อน
6. ท่าหยิกไหล่ลายมวย 7. ท่าแฮ้งหย่อนขา 8. ท่ากาตากปีก 9. ท่าหลีกแม่เมีย 10. ท่าลมพัดพร้าว
11. ท่าเสือออกเหล่า 12. ท่าเต่าลงหนอง 13. ท่าตีกลองกินเหล้า 14. ท่าคนขาแหย่ง 15. ท่าตาขำตีงัว
16. ท่าความเถิกใหญ่แล่นเข้าชนกัน 17. ท่าสาวลงท่ง 18. ท่าเกี่ยวข้าวในนา 19. ท่าตุ่นเข้าฮู
20. ท่าพิเภกถวยครู 21. ท่าฟ้อนเกี้ยวซู้ 22. ท่ายูงรำแพน 23. ท่าอีแหลวบินเซิ่นเอาไก่น้อย
24. ท่าสาวน้อยประแป้ง 25. ท่าเลี้ยงผีไท้ 26. ท่าพายเฮือส่วง 27. ท่ากวยจับอู่ 28. ท่าปู่สิงหลาน
29. ท่าผู้เฒ่าฟังธรรม 30. ท่าลำเพลิน 31. ท่าหงส์บินเวิ่น 32. ท่าคนเมาเหล้า 33. ท่าผู้เฒ่านั่งผิงไฟ
34. ท่าลิงหลอกเจ้า 35. ท่าสักสุ่ม 36. ท่าอีเกียจับไม้ 37. ท่าตำข้าว 38. ท่างมปลาในน้ำ 39. ท่านกเจ่าบินวน 40. ท่ากินรีชมดอก 41. ท่าคนเข็นฝ้าย 42. ท่าแม่ฮ้างลงท่งถือหวิง 43. ท่าไถนา
44. ท่าลายมวย 45. ท่านับเงินตรา 46. ท่าหนุมานถวายแหวน 47. ท่าแข้แก่งหาง 48. ท่าอุ่นมโนราห์
การแต่งกาย
การฟ้อนแม่บทอีสานนั้นจะใช้ฟ้อนเดี่ยวหรือฟ้อนคู่ชายหญิงก็ได้
ชาย สวมเสื้อย้อมครามแขนสั้น นุ่งโสร่งไหม ใช้ผ้าขิดสีแดงมัดเอว
หญิง แต่งกายคล้ายหมอลำเรื่อง คือ ผมเกล้ามวยสูงทัดดอกไม้ สวมมงกุฎเพชร ห่มสไบแพรวาสีเหลืองเฉียงไหล่ ไม่สวมเสื้อ นุ่งผ้าซิ่นไหมมัดหมี่ต่อตีนจก เครื่องประดับเช่น สร้อย ต่างหู เข็มขัด กำไล
แหล่งที่มาของข้อมูล
http://www.thaidances.com/webboard/question.asp?QID=2120
http://beebikaew.site90.com/pong.html
http://www.isan.clubs.chula.ac.th/folkdance/index.php?transaction=kalsin01.php
http://www.isan.clubs.chula.ac.th/folkdance/index.php?transaction=roied14.php
http://www.youtube.com/watch?v=eaj4p5n5GEI