แหล่งท่องเที่ยวจังหวัดอุดรธานี

ท่องเที่ยว ภาคอีสาน

แหล่งท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดอุดรธานี



พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง


ตั้งอยู่ที่บ้านเชียง ตำบลบ้านเชียง เป็นแหล่งประวัติศาสตร์สำคัญทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และภูมิภาคเอเซียอาคเนย์ กรมศิลปากรได้ทำการสำรวจขุดค้นแหล่งโบราณคดีที่บ้านเชียง ระหว่างปี พ.ศ. 2517–2518 จากการศึกษาหลักฐาน ต่าง ๆ ที่พบทำให้บ้านเชียงเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่มีอายุราว 1822–4600 โดยองค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้จดทะเบียนให้แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงเป็นมรดกโลกทางประวัติศาสตร์ เมื่อเดือนธันวาคม 2535 ณ เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนีเซีย ภายในพิพิธภัณฑฯ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
ส่วนที่ 1 ตั้งอยู่ทางด้านขวาของทางเข้า อยู่ในบริเวณวัดโพธิ์ศรีใน เป็นพิพิธภัณฑ์เปิดที่เป็นแหล่งโบราณคดีแห่งแรกในประเทศไทย เป็นนิทรรศการถาวร ซึ่งแสดงขั้นตอนการขุดค้นทางโบราณคดีที่ยังคงลักษณะของศิลปวัตถุที่พบตามชั้นดินเพื่อให้ผู้เข้าชมได้ศึกษาถึงการขุดค้นทางโบราณคดี และโบราณวัตถุ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาชนะเผาที่ฝังรวมกับศพ
ส่วนที่ 2 ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายของทางเข้า เป็นอาคารที่จัดแสดงเกี่ยวกับเรื่องราว และวัฒนธรรมของบ้านเชียงในอดีต ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ที่แสดงถึงเทคโนโลยีในสมัยโบราณรวมทั้งโบราณวัตถุ และนิทรรศการบ้านเชียงที่เคยจัดแสดง ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา
นอกจากนั้น ภายในบริเวณอาคารส่วนที่ 2 ยังมีห้องนิทรรศการ ห้องบรรยาย ฉายภาพยนตร์ ภาพนิ่ง และการให้บริการการศึกษาต่าง ๆ การเดินทาง ไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียงนั้นสะดวกมาก เนื่องจากอยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 55 กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข 22 เส้นอุดรธานี-สกลนคร ตรงกิโลเมตรที่ 50 ก็จะถึงปากทางเข้าบ้านปูลู จะเห็นป้ายบอกทางไปพิพิธภัณฑ์ทางด้านซ้ายมือ
เวลาเปิด-ปิด : พิพิธภัณฑ์ฯเปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น.

อัตราค่าเข้าชม : ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 150 บาท

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 4220 8340-1


ศาลหลักเมือง อุดรธานี

ศาลหลักเมืองอุดรธานี หรือเรียกว่าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองอุดรธานี เป็นศูนย์รวมความเคารพและความศรัทธา ซึ่งชาวเมืองอุดรธานีมักจะมาสักการะบูชา ในบริเวณศาลหลักเมืองอุดรธานี ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญอื่นๆ อันเป็นที่เลื่อมใสบูชาเป็นอย่างสูงได้แก่ หลวงพ่อพระพุทธโพธิ์ทอง และ ท้าวเวสสุวัณ ซึ่งมีความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์และความเป็นสิริมงคลในแต่ละด้านที่แตกต่างกันไป ตามประวัติกล่าวว่า ศาลหลักเมืองอุดรธานีนั้นสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2502 โดยได้อัญเชิญดวงพระวิญญาณของ พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ผู้ทรงก่อตั้งเมืองอุดรธานีขึ้นเมื่อพ.ศ. 2436 มาสถิตย์ ณ เสาหลักเมืองนี้ด้วย องค์เสาหลักเมืองทำขึ้นด้วยไม้คูณยาว 5 เมตรเศษ และฝังลึกลงไป 3 เมตร มีการบรรจุแผ่นยันต์และแก้วแหวน เงิน ทองต่างๆ เป็นจำนวนมากไว้ใต้ฐานเพื่อเป็นสิริมงคล ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 ได้มีการสร้างศาลหลักเมืองหลังใหม่แทนหลังเดิมที่ทรุดโทรมไป ตัวอาคารของศาลหลักเมืองจะเป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ผสมผสานศิลปะแห่งภาคอีสาน ให้เป็นที่สักการะขอพรของชาวอุดรธานีสืบมา นอกจากนี้บริเวณศาลหลักเมืองยังมีรูปปั้นท้าวเวสสุวัณ 1 ใน 4 ของท้าวจตุโลกบาลผู้ปกครองเหล่าอสูร และศาลหลักเมืองหลังใหม่ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่ามาสักการะศาลหลักเมืองอุดรธานีนั้น สามารถบูชาและกราบขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 3 ได้ในหนเดียว


สวนสาธารณะหนองประจักษ์ศิลปาคม

อยู่ในเขตเทศบาลเมืองอุดรธานี หนองประจักษ์เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ มีมาตั้งแต่ก่อนตั้งเมืองอุดรธานี เดิมเรียกว่า “หนองนาเกลือ” ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของตัวเมือง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “หนองประจักษ์” เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ผู้ก่อตั้งเมืองอุดรธานี ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 เทศบาลเมืองอุดรธานี ได้ทำการปรับปรุงหนองประจักษ์ขึ้นใหม่ เพื่อถวายเป็นราชสักการะแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ โดยบริเวณตัวเกาะกลางน้ำได้จัดทำสวนหย่อมปลูกไม้ดอกไม้ประดับหลายชนิด และทำสะพานเชื่อมระหว่างเกาะมีน้ำพุ หอนาฬิกา และสวนเด็กเล่น แต่ละวันจะมีประชาชนเข้าไปพักผ่อน และออกกำลังกายกันเป็นจำนวนมาก



บ้านคำชะโนด

ตั้งอยู่ที่ตำบลวังทอง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอบ้านดุง มีพื้นที่ราว 20 ไร่ ซึ่งมีน้ำล้อมรอบสภาพคล้ายเกาะ มีดงต้นปาล์มชนิดหนึ่งลักษณะคล้ายต้นตาลผสมต้นมะพร้าวขึ้นอยู่ เรียกว่า ต้นชะโนด คนสมัยเรียกที่นี่ว่า "วังนาคินทรคำชะโนด" เชื่อกันว่าบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่กลางดงเป็นประตูสู่เมืองบาดาล เป็นที่อยู่อาศัยของพญาสุทโธนาค ที่แปลกคือในดงชะโนดมีน้ำซับน้ำซึมอยู่ตลอดเวลา แต่กลับไม่เคยมีน้ำท่วมเลย การเดินทาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 22 (อุดรธานี-สกลนคร) เลี้ยวซ้ายที่บ้านหนองเม็ก ไปทางอำเภอบ้านดุง อีก 9 กิโลเมตร ถึงบ้านคำชะโนด



อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาภูพาน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3,430 ไร่ ในเขตบ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน อยู่ห่างจากตัวจังหวัดระยะทางประมาณ 67 กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข 2 เส้นอุดรธานี-หนองคาย ถึงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 13 แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 2021 ไปทางอำเภอบ้านผือ ระยะทางประมาณ 42 กิโลเมตร แยกขวาประมาณ 500 เมตร และตรงไปตามเส้นทางหมายเลข 2348 อีกประมาณ 12 กิโลเมตร มีแยกขวาเป็นทางเข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทนี้เป็นที่ตั้งของสถานที่ซึ่งแสดงถึงอารยธรรมของมนุษย์ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประเทศซึ่งมีโครงสร้างส่วนใหญ่เป็นหินทรายที่ถูกขัดเกลาจากขบวนการกัดกร่อนทางธรรมชาติทำให้เกิดเป็นโขดหินน้อยใหญ่รูปร่างต่าง ๆ กัน ปรากฏเป็นหลักฐานเกี่ยวกับชีวิตผู้คนในอดีตที่น่าสนใจหลายแห่ง อาทิ
พระพุทธบาทบัวบก ตั้งอยู่บริเวณทางแยกซ้ายมือก่อนถึงที่ทำการอุทยานฯสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2463-2477 คำว่า "บัวบก" เป็นชื่อของพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นตามป่า มีหัว และใบคล้ายใบบัว ซึ่งชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า ผักหนอก บัวบกนี้คงจะมีอยู่มากในบริเวณที่พบรอยพระพุทธบาท จึงเรียกรอยพระพุทธบาทนี้ว่า "พระพุทธบาทบัวบก" หรือคำว่าบัวบกอาจจะมาจากคำว่า บ่บก ซึ่งหมายถึง ไม่แห้งแล้ง รอยพระพุทธบาทมีลักษณะเป็นแอ่งลึกประมาณ 60 เซนติเมตร ลงไปในพื้นหินยาว 1.93 เมตร กว้าง 90 เซนติเมตร เดิมมีการก่อมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทไว้ ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2465 พระอาจารย์ศรีทัตย์ สุวรรณมาโจ ได้รื้อมณฑปเก่าออกแล้วสร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นใหม่ และยังสร้างรอยพระพุทธบาทจำลองวางทับรอยพระพุทธบาทเดิมไว้ ภายในพระธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตัวองค์เจดีย์เป็นทรงบัวเหลี่ยมคล้ายองค์พระธาตุพนม มีงานนมัสการพระพุทธบาทบัวบกในวันขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี
พระพุทธบาทหลังเต่า ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระพุทธบาทบัวบก มีลักษณะเป็นรอยพระบาทสลักลึกลงไปในพื้นหิน ลึกประมาณ 25 เซนติเมตร ใจกลางพระบาทสลักเป็นรูปดอกบัว กลีบแหลมนูนขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด และเนื่องจากพระพุทธบาทแห่งนี้อยู่ใกล้กับเพิงหินธรรมชาติรูปร่างคล้ายเต่า จึงได้ชื่อว่า “พระพุทธบาทหลังเต่า”
ถ้ำ และเพิงหินต่าง ๆ ตั้งกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณอุทยานฯ นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมได้ในระยะทางไม่ไกลนัก ได้แก่ ถ้ำลายมือ ถ้ำโนนสาวเอ้ ถ้ำคน ถ้ำวัวแดง (ซึ่งถ้ำเหล่านี้สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นที่พำนักของมนุษย์สมัยหิน และมนุษย์เหล่านั้นได้เขียนรูปต่าง ๆ ไว้ เช่น รูปคน รูปมือ รูปสัตว์ และรูปรายเรขาคณิต) นอกจากนั้นยังมีลานหินที่สวยงาม คือ ลานหินโนนสาวเอ้ ธรรมชาติได้สร้างเพิงหินต่าง ๆ ไว้ ทำให้มนุษย์รุ่นหลัง ๆ ได้จินตนาการผูกเป็นเรื่องตำนานพื้นบ้าน คือ เรื่อง “นางอุสา-ท้าวบารส” เพิงหินที่สวยงามเหล่านี้ ได้แก่ คอกม้าท้าวบารส หอนางอุสา บ่อน้ำนางอุสา นอกจากนั้นยังพบชิ้นส่วนหลักเสมา และหินทรายจำหลัก พระพุทธรูปศิลปะสมัยทวาราวดี ที่เพิงหินวัดพ่อตา และเพิงหินวัดลูกเขย ในช่วงปลายฝนต้นหนาวจะมีดอกไม้เล็ก ๆ ขึ้นอยู่ตามพื้นที่ชุ่มชื้นบริเวณลานหินเหล่านี้
ภายในบริเวณอุทยานฯ มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ให้บริการข้อมูลของอุทยานฯ รวมทั้งแผนที่ และเส้นทางเดินเที่ยวชมบริเวณ

เวลาเปิด-ปิด : อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00-16.30 น.

อัตราค่าเข้าชม : นักท่องเที่ยว ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 4222 2909 ต่อ 218



วนอุทยานน้ำตกธารงาม


ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ป่าขุนห้วยสามทาก ขุนห้วยกองสี ตำบลหนองแสง มีพื้นที่ทั่งหมดประมาณ 78,125 ไร่ ประกาศเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2527 ลักษณะสภาพพื้นที่ของวนอุทยานฯ เป็นภูเขาสูงชัน และเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่ไหลลงสู่ห้วยสามทาก-ห้วยน้ำฆ้องตลอดปี
จุดเด่นที่น่าสนใจภายในวนอุทยานฯ มีหน้าผา ถ้ำที่สวยงาม และมีลานหิน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “แหล” เป็นแหลขนาดใหญ่ เนื้อที่กว้างขวาง มีก้อนหินใหญ่ตั้งวางเรียงรายและซ้อนกันอยู่ และที่จุดนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ที่อยู่เบื้องล่างได้ สถานที่พัก วนอุทยานน้ำตกธารงามไม่มีบริการบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยว หากนักท่องเที่ยวมีความประสงค์จะเดินทางไปพักแรม หรือทัศนศึกษา จะต้องนำเต็นท์ไปเอง ติดต่อสอบถามรายละเอียด โทร. 0 4222 1725 การเดินทาง วนอุทยานน้ำตกธารงามอยู่ห่างจากอำเภอหนองแสง 6 กิโลเมตร สามารถให้เส้นทางในการเดินทางได้ 3 เส้นทาง ได้แก่
เส้นทางแรก จากอุดรธานี-บ้านเหล่า -โคกลาด- อำเภอหนองแสง ระยะทางประมาณ 35 กิโลเมตร
เส้นทางที่สอง จากอุดรธานีไปบ้านคำกลิ้ง-บ้านตาด-อำเภอหนองแสง ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร
เส้นทางที่สาม จากอุดรธานี-ห้วยเกิ้ง อำเภอหนองแสง ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร


ภูฝอยลม


ฝอยลม ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพานน้อย ที่อำเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธานี สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 600 เมตร อากาศเย็นสบายตลอดปี ชื่อของภูฝอยลมมาจากไลเคนชนิดหนึ่ง คือ “ฝอยลม”ซึ่งเคยพบเกาะอาศัยอยู่ตามกิ่งของต้นไม้ใหญ่ในบริเวณนี้ แต่ปัจจุบันพบได้น้อยลงเนื่องจากป่าถูกบุกรุกจนมีสภาพเสื่อมโทรม ปัจจุบันมีการจัดตั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติและให้เป็นที่ทัศนศึกษาของประชาชน ประกอบด้วยสวนรวมพรรณไม้ 60 พรรษา มหาราชินี อุทยานโลกล้านปี มีหุ่นจำลองไดโนเสาร์ และพิพิธภัณฑ์แสดงซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ และมีเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติซึ่งจะได้พบป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง สลับป่าทุ่งหญ้า น้ำตกเล็ก ๆ และถ้ำ
การเดินทาง หากเดินทางมาตามเส้นทางขอนแก่น-อุดรธานี เมื่อเลยอำเภอโนนสะอาดมาแล้วจะพบทางแยกซ้ายที่บ้านห้วยเกิ้งไปภูฝอยลม รถยนต์สามารถขึ้นถึงบนภูได้โดยสะดวก


อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง


อยู่บนทางหลวงแผ่นดินสายอุดรธานี-หนองบัวลำภู ตรงกิโลเมตรที่ 15 แล้วแยกเข้าไปประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เพื่อการเกษตร และการประมง อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พื้นที่อ่างเก็บน้ำประมาณ 20,000 ไร่ เป็นอ่างเก็บน้ำเพื่อการเกษตร การประมง การจ่ายน้ำเพื่อการผลิตประปา เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีภูมิประเทศที่สวยงามเหมาะสำหรับการล่องแพ ตกปลา นั่งเรือชมทิวทัศน์โดยรอบได้ และภายในอ่างเก็บน้ำ มีพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งพระองค์ท่านเคยเสด็จประทับเกือบทุกปี



สวนกล้วยไม้หอมอุดรซันไฌน์


ตั้งอยู่ที่ซอยกมลวัฒนา ถนนรอบอุดร-หนองสำโรง จากตัวเมืองใช้เส้นทางหมายเลข 2 (อุดรธานี-หนองคาย) ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร เลยแยกถนนเลี่ยงเมืองไปเล็กน้อย ทางซ้ายมือจะมีทางแยกเข้าหนองสำโรงประมาณ 500 เมตร และเห็นป้ายบอกทางเข้าสวนกล้วยไม้ทางด้านซ้ายมือ สวนกล้วยไม้หอมอุดรซันไฌน์ เป็นสวนกล้วยไม้ที่ผลิตกล้วยไม้กลิ่นหอมพันธุ์ใหม่ของไทยซึ่งใช้เวลาในการค้นคว้า และผสมพันธุ์ระหว่างแวนด้า (Vanda) โจเซฟฟินแวนเบอร์โร (Josephine Van Berrow) ได้รับการจดทะเบียนลิขสิทธิ์ที่สมาคมกล้วยไม้โลก ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2531 ชื่อพันธุ์ Udon Sunshine Orchid หรือพันธุ์นางสาวอุดรซันไฌน์ ซึ่งมีการนำไปสกัดทำน้ำหอมในชื่อเดียวกันไปจำหน่าย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 4224 24755


วัดป่าบ้านตาด

ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านตาด เดินทางออกจากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 2 เส้นอุดรธานี-ขอนแก่น ถึงบริเวณสี่แยกบ้านคงเค็ง แล้วแยกขวาเข้าไปอีกประมาณ 9 กิโลเมตร ก็จะถึงบริเวณวัดที่อยู่เลยจากชุมชนบ้านตาดไม่ไกลเท่าใดนัก สภาพโดยทั่วไปของวัดนี้มีลักษณะเป็นพื้นที่ป่าบนโคก มีพื้นที่ทั้งหมดราว 163 ไร่ ล้อมรอบด้วยกำแพง นอกจาก มีจุดประสงค์ที่จะให้แสดงเขตแน่นอนของวัดแล้วยังป้องกันอันตรายให้กับสัตว์ ป่าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าของวัดอีกด้วยเพราะในบริเวณวัดมีสัตว์ป่าชุกชุม มาก ทั้งไก่ฟ้า ไก่ป่า นก กระรอก กระแต หมูป่า วัดป่าบ้านตาดเป็นที่พำนักของพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน พระอาจารย์วิปัสสนาสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านเป็นพระที่มีปฏิปทา เป็นที่เคารพศรัทธาเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการไปปฏิบัติธรรม


วนอุทยานวังสามหมอ

อยู่ในเขตพื้นที่ของตำบลหนองกุ้งทับม้า ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าบะยาว-ป่าหัวนาคำ-ป่าหนองกุ้งทับม้า-ป่านายูง และป่าหนองหญ้าไซ วนอุทยานฯ อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอวังสามหมอประมาณ 20 กิโลเมตร หรืออยู่ห่างจากอำเภอเมืองอุดรธานีประมาณ 120 กิโลเมตร ประกาศเป็นวนอุทยานฯ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2527 มีเนื้อที่ประมาณ 18,750 ไร่ ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบโดยทั่วไปเป็นป่าแดง หรือป่าเต็งรัง มีพันธุ์ไม้ขนาดเล็ก และขนาดกลางขึ้น ได้แก่ไม้ยาง ไม้ตะเคียนทอง มีลำห้วย เกาะ แก่ง และโขดหินที่มีน้ำไหลตลอดทั้งปี สัตว์ป่าที่พบเห็น ได้แก่ บ่าง อีเห็น ชะมด นกเปล้า เป็นต้น


วัดป่าบ้านค้อ

ภายในวัดมีพระมหาธาตุเจดีย์ เฉลิมพระบารมีพระนวมินทร์ นอกจากนี้บริเวณใกล้เคียงกับพระมหาธาตุเจดีย์ยังมีต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นกิ่งพันธุ์ที่ตอนกิ่งมาจากพรศรีมหาโพธิ์ ณ พุทธคยา ประเทศอินเดีย การเดินทาง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2 (อุดรธานี-หนองคาย) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 13 เลี้ยวซ้าย ไปตามถนนหมายเลข 2021 (อุดรธานี-บ้านผือ) ประมาณ 20 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าวัดป่าบ้านค้อ ประมาณ 3 กิโลเมตร รวมระยะทางจากอุดรธานี ประมาณ 36 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0 4225 0730- 1


แหล่งที่มาของข้อมูล

http://www.tlcthai.com

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น