วิถีการดำเนินชีวิตของคนอีสาน

วิถีชีวิตชาวอีสาน




ดินแดนอีสาน มีวัฒนธรรม ประเพณี เฉพาะตน มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ที่เรียบง่าย ท่ามกลางความแร้นแค้น ชาวอีสาน มีความเป็นอยู่เช่นไร ใช้ชีวิตอยู่เช่นไร สร้างศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีเช่นไรขึ้นมา แต่ละจังหวัด แต่ละสถานที่ อาจมีวิถีชิวิต ความเป็นอยู่ ที่แตกต่าง ตามลักษณะพื้นที่ หรือธรรมชาิติที่มีอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งหมด ล้วนคือวิถีชิวิตแห่งชาวอีสาน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ



การสร้างบ้านของชุมชนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่สมัยโบราณมักเลือกทำเลที่ตั้งอยู่ตามที่ราบลุ่มที่มีแม่สำคัญ ๆ ไหลผ่าน เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำมูล แม่น้ำชี แม่น้ำสงคราม ฯลฯ รวมทั้งอาศัยอยู่ตามริมหนองบึง ถ้าตอนใดน้ำท่วมถึงก็จะขยับไปตั้งอยู่บนโคกหรือเนินสูง ดังนั้นชื่อหมู่บ้านในภาคอีสานจึงมักข้นต้นด้วยคำว่า "โคก โนน หนอง" เป็นส่วนใหญ่
ลักษณะหมู่บ้านทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานนั้นมักจะอยู่รวมกันเป็นกระจุก ส่วนที่ตั้งบ้านเรือนตามทางยาวของลำน้ำนั้นมีน้อย ผิดกับทางภาคกลางที่มักตั้งบ้านเรือนตามทางยาว ทั้งนี้เพราะมีแม่น้ำลำคลองมากกว่า
หนุ่มสาวชาวอีสานเมื่อแต่งงานกันแล้ว ตามปกติฝ่ายชายจะต้องไปอยู่บ้านพ่อตาแม่ยาย ต่อเมื่อมีลูกจึงขยับขยายไปอยู่ที่ใหม่เรียกว่า "ออกเฮือน" แล้วหักล้างถางพงหาที่ทำนา ดังนั้น ที่นาของคนชั้นลูกชั้นหลานจึงมักไกลออกจากหมู่บ้านไปทุกที และเมื่อบริเวณเหมาะสมจะทำนาหมดไป เพราะพื้นที่ราบที่มีแหล่งน้ำจำกัด คนอีสานชั้นลูกหลานก็มักชวนกันไปตั้งบ้านใหม่อีก หรือถ้าที่ราบในการทำนาบริเวณใดกว้างไกลไปมาลำบาก ก็จะชักชวนกันไปตั้งบ้านใหม่ใกล้เคียงกับนาของตน ทำให้เกิดการขยายตัวกลายเป็นหมู่บ้านขึ้น



ลักษณะการตั้งถิ่นฐาน

ในการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของคนอีสานมักเลือกทำเลที่เอื้อต่อการยังชีพ ซึ่งมีองค์ประกอบทั่วไปดังนี้


1. แหล่งน้ำ นับเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก อาจเป็นหนองน้ำใหญ่หรือห้วย หรือ ลำน้ำที่แยกสาขามาจากแม่น้ำใหญ่ ที่มีน้ำเฉพาะฤดูฝนส่วนมากเป็นที่ราบลุ่มสามารถทำนาเลี้ยงสัตว์ ได้ในบางฤดูเท่านั้น
ชื่อหมู่บ้านมักขึ้นต้นด้วยคำว่า "เลิง วัง ห้วย กุด หนอง และท่า" เช่น เลิงนกทา วังสามหม้อ ห้วยยาง กุดนาคำ หนองบัวแดง ฯลฯ

2. บริเวณที่ดอนเป็นโคกหรือที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง สามารถทำไร่และมีทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ มีทั้งที่ดอนริมแม่น้ำและที่ดอนตามป่าริมเขา แต่มีน้ำซับไหลมาบรรจบเป็นหนองน้ำ
ชื่อหมู่บ้านมักขึ้นต้นด้วนคำว่า "โคก ดอน โพน และโนน" เช่น โคกสมบูรณ์ ดอนสวรรค์ โพนยางคำ ฯลฯ

3. บริเวณป่าดง เป็นทำเลที่ใช้ปลูกพืชไร่และสามารถหาของป่าได้สะดวก มีลำธารไหลผ่าน เมื่ออพยพมาอยู่กันมากเข้าก็กลายเป็นหมู่บ้านและมักเรียกชื่อหมู่บ้านขึ้นต้นด้วยคำว่า "ดง ป่า และเหล่า" เช่น โคกศาลา ป่าต้นเปือย เหล่าอุดม ฯลฯ

4. บริเวณที่ราบลุ่ม เป็นพื้นที่เหมาะในการทำนาข้าว และทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ในหน้าแล้ง ตัวหมู่บ้านจะตั้งอยู่บริเวณขอบหรือแนวของที่ราบติดกับชายป่า แต่น้ำท่วมไม่ถึงในหน้าฝน บางพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มมีน้ำขังตลอดปี เรียกว่า "ป่าบุ่งป่าทาม" เป็นต้น

5. บริเวณป่าละเมาะ มักเป็นที่สาธารณะสามารถใช้เลี้ยงสัตว์และหาของป่าเป็นอาหารได้ ตลอดจนมีสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่นำมาเป็นอาหารยังชีพ รวมทั้งสมุนไพรใช้รักษาโรค และเป็นสถานที่ยกเว้นไว้เป็นดอนปู่ตาตามคติความเชื่อของวัฒนธรรมกลุ่มไต-ลาว


ความเชื่อในการตั้งหมู่บ้าน

การเลือกภูมิประเทศเพื่อตั้งหมู่บ้านในภาคอีสานจะเห็นได้ว่ามีหลักสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ ต้องเลือกทำเลที่ประกอบด้วย



1. น้ำ เพื่อการยังชีพและประกอบการเกษตรกรรม

2. นา เพื่อการปลูกข้าว (ข้าวเหนียว) เป็นอาหารหลัก

3. โนน เพื่อการสร้างบ้านแปงเมือง ที่น้ำท่วมไม่ถึง

ส่วนคติความเชื่อของชาวอีสานในการดำเนินชีวิต ชาวอีสานมี ความเชื่อที่ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษกล่าวคือ ความเชื่อในอำนาจลี้ลับที่เหนือธรรมชาติ และเชื่อในการครองเรือน การทำมาหาเลี้ยงชีพ สิ่งใดที่โบราณห้ามว่าเป็นโทษ และเป็นความเดือดร้อนมาให้ก็จะละเว้นและไม่ยอมทำสิ่งนั้น
สำหรับความเชื่อในการตั้งหมู่บ้านก็ไม่ต่างกันนัก ชาวอีสานมีการนับถือ"ผีบ้าน" และแถนหรือ "ผีฟ้า"มีการเซ่นสรวงดวงวิญญาณบรรพบุรุษเพื่อให้ช่วยปกป้องรักษาลูกหลาน มีการตั้ง "ศาลเจ้าปู่" ไว้ที่ดอนปู่ตา ซึ่งมีชัยภูมิเป็นโคก น้ำท่วมไม่ถึง มีต้นไม้ใหญ่หนาทึบ มีการก่อสร้าง "ตูบ" เป็นที่สถิตของเจ้าปู่ทั้งหลาย ตลอดจนการตั้ง "บือบ้าน"(หลักบ้าน)เพื่อเป็นสิริมงคลของหมู่บ้าน และมีการเซ่น "ผีอาฮัก" คือเทพารักษ์ให้ดูแลคุ้มครองผู้คนในหมู่บ้านให้อยู่ดีมีสุขตลอดไป
พิธีเลี้ยง "ผีปู่ตา" จะกระทำในเดือน 7 คำว่า "ปู่ตา" หมายถึงญาติฝ่ายพ่อ(ปู่-ย่า)และญาติฝ่ายแม่(ตา-ยาย)ซึ่งทั้งสี่คนนี้ เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็เป็นที่เคารพของลูกหลาน ครั้นเมื่อตายไปจึงปลูกหอหรือที่ชาวอีสานเรียก"ตูบ" มักใช้เสา 4 ต้น หลังคาจั่วพื้นสูง โดยเลือกเอาสถานที่เป็นดงใกล้บ้านมีต้นไม้ใหญ่และสัตว์ป่านานาชนิดเรียกว่า"ดงปู่ตา" ถือเป็นที่ศักดิ์สิทธ์ ใครไปรุกล้ำตัดต้นไม้หรือล่าสัตว์ไม่ได้ หรือแม้แต่แสดงวาจาหยาบคายก็ไม่ได้ ปู่ตาจะลงโทษกระทำให้เจ็บหัวปวดท้อง และเมื่อมีการเจ็บไข้ได้ป่วย มีคนล้มตายผิดปกติเกิดขึ้นในหมู่บ้านชาวอีสานถือกันว่า"หลักเหงี่ยงหงวย" ต้องทำพิธีตอกหลักบ้านใหม่ให้เที่ยงตรง มีการสวดมนต์เลี้ยงพระสงฆ์ เซ่นสรวงเทพยาดาอารักษ์ แล้วหาหลักไม้แก่นมาปักใหม่ ซึ่งต้องมีคาถาหรือยันต์ใส่พร้อมกับสวดญัตติเสาก่อนเอาลงดินในบริเวณกลางบ้าน ทั้งนี้เพราะชาวอีสานมีความเชื่อในการตั้ง "หลักบ้าน" เพราะหลักบ้านเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของผังชุมชนระดับหมู่บ้าน และเปรียบเสมือนหัวใจของบ้าน เมื่อชุมชนเติบโตขึ้น "หลักบ้าน" ก็พัฒนาไปสู่"หลักเมือง" ดังที่ปรากฎอยู่ทั่วไปในประเทศไทย
หลักบ้านมักสร้างด้วยไม้มงคล เช่น ไม้คูน ไม้ยอ มีทั้งหลักประธานหลักเดี่ยวและมีพร้อมหลักบริวารรายล้อม ส่วนรูปแบบของหลักบ้านนั้น มักควั่นหัวไม้เป็นเสาทรงบัวตูมหยาบ ๆ บางแห่งก็ถากให้เป็นปลายแหลมแล้วทำหยัก"เอวขัน"ไว้ส่วนล่าง

ความเชื่อในการสร้างเรือนอีสาน

อันดับแรกต้องพิจารณาสถานที่ ๆ จะสร้างเรือนก่อน โดยต้องเลือกเอาสถานที่ปลอดโปร่ง ไม่มีหลุมบ่อ ไม่มีจอมปลวก ไม่มีหลุมผี ไม่มีตอไม้ใหญ่ และต้องดูความสูงต่ำ ลาดเอียงของพื้นดินว่าลาดเอียงไปทางทิศใดและจะเป็นมงคลหรือไม่ ดังนี้

1. พื้นดินใด สูงหนใต้ ต่ำทางเหนือ เรียกว่า "ไชยะเต ดีหลี"

2. พื้นดินใด สูงหนตะวันตก ต่ำทางตะวันออก เรียกว่า "ยสะศรี-ดีหลี"

3. พื้นดินใด สูงทางอีสาน ต่ำทางหรดี เรียกว่า "ไม่ดี"

4. พื้นดินใด สูงทางอาคเนย์ ต่ำทางพายัพ เรียกว่า "เตโซ" เฮือนนั้นมิดี เป็น ไข้ พยาธิฮ้อนใจ

เมื่อเลือกได้พื้นที่ปลูกเรือนแล้ว จะมีการเสี่ยงทายพื้นที่นั้นอีกครั้งหนึ่ง โดยจัดข้าว 3 กระทง คือ ข้าวเหนียว 1 กระทง,ข้าวเหนียวดำ 1 กระทงและข้าวเหนียวแดง 1 กระทง นำไป วางไว้ตรงหลักกลางที่ดินเพื่อให้กากิน ถ้ากากินข้าวดำ ท่านว่าอย่าอยู่เพราะที่นั้นไม่ดี ถ้ากากินข้าวแดง ท่านว่าไม่ดียิ่งเป็นอัปมงคลมาก ถ้ากากินข้าวขาว ท่านว่าดีหลี จะอยู่เย็นเป็นสุข ให้รีบเฮ็ดเรือนสมสร้างให้ เสร็จเร็วไว
การเลือกพื้นที่ที่จะปลูกเรือนอีกวิธีหนึ่งคือ การชิมรสของดินโดยขุดหลุมลึกราวศอกเศษ ๆ เอาใบตองปูไว้ก้นหลุม แล้วหาหญ้าคาสดมาวางไว้บนใบตอง ทิ้งไว้ค้างคืนจะได้ไอดินเป็นเหงื่อจับอยู่หน้าใบตอง จากนั้นให้ชิมเหงื่อที่จับบนใบตอง หากมีรสหวาน เป็นดินที่พออยู่ได้ มีรสจืด เป็นดินที่เป็นมงคล จะอยู่เย็นเป็นสุข มีรสเค็ม เป็นอัปมงคล ใครอยู่มักไม่ยั่งยืน มีรสเปรี้ยว พออยู่ได้แต่ไม่ใคร่ดีนัก จะมีทุกข์เพราะเจ็บไข้อยู่เสมอ

นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อเรื่องกลิ่นของดินอีกด้วย โดยการขุดดินลึกราว 1 ศอก เอาดินขึ้นมาดมกลิ่นว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเชื่อกันว่า ถ้าดินมีกลิ่นหอม ถือว่าดินนั้นอุดมดี เป็นมงคลอยู่เย็นเป็นสุข แต่ถ้าดินมีกลิ่นเย็น กลิ่นเหม็น กลิ่นคาว ถือว่าดินนั้นไม่ดี ใครปลูกสร้างบ้านอยู่เป็นอัปมงคล
การดูพื้นที่ก่อนการสร้างเรือน ชาวอีสานแต่โบราณถือกันมากแต่ในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต โดยยังใช้คติเดิมแต่มีการเลี่ยงหรือแก้เคล็ด เช่น การชิมดิน หากเป็นรสเค็มหรือเปรี้ยวก็แก้เคล็ดโดยการบอกว่าจืด ส่วนการดมกลิ่นดิน หากมีกลิ่นเหม็นคาวก็จะบอกเอาเคล็ดว่าหอม เป็นต้น
ฤกษ์ยามในการปลูกเรือน

ฤกษ์เดือน

1. เดือนเจียง (เดือนอ้าย) นาคนั้นนอนหลับหากปลูกเรือนอยู่มักตาย

2. เดือนยี่ นาคนอนตื่น ปลูกเรือนอยู่ดี

3. เดือนสาม นาคหากินทางเหนือ มิดี อยู่ฮ้อนไฟจักไหม้

4. เดือนสี่ นาคหากินอยู่เรือน ปลูกเรือนอยู่ดีเป็นมงคล

5. เดือนห้า นาคพ่ายครุฑหนี ปลูกเรือนร้อนนอกร้อนใจ มิดี

6. เดือนหก จะบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สินเงินทอง มิตรสหายมาก

7. เดือนเจ็ด นาคพ่ายหนี จักได้พรากจากเรือนมิดี

8. เดือนแปด นาคเห็นครุฑ จักได้เสียของมิรู้แล้ว

9. เดือนเก้า นาคประดับตน ปลูกเรือนมีข้าวของกินมิรู้หมด

10. เดือนสิบ นาคถอดเครื่องประดับ ปลูกเรือนเข็ญใจ และคนในเรือนมักเจ็บ ไข้ตาย

11. เดือนสิบเอ็ด จะเกิดทุกข์ภัยอันตรายต่าง ๆ มักจะมีคนฟ้องร้องกล่าวหา จัก มีโทษทัณฑ์

12. เดือนสิบสอง จะได้ทรัพย์สิน เงินทอง ข้าวของ และคนใช้ดีหลีแล

ฤกษ์วัน

1. วันอาทิตย์ ปลูกเรือนจะเกิดทุกข์อุบาทว์

2. วันจันทร์ ทำแล้ว 2 เดือนจะได้ลาภผ้าผ่อนและของขาวเหลือง เป็นที่พึงพอใจ

3. วันอังคาร ทำแล้ว 3 วันไฟจะไหม้หรือเจ็บไข้

4. วันพุธ ปลูกเรือนจะได้ลาภเครื่องอุปโภคมีผ้าผ่อน เป็นต้น

5. วันพฤหัสบดี ปลูกเรือนจะเกิดสุขสบายใจ ทำแล้ว 5 เดือนจะได้โชคลาภมากมาย

6. วันศุกร์ ปลูกเรือนจะมีความทุกข์และความสุขก้ำกึ่งกัน ทำแล้ว 3 เดือน จะได้ลาภ เล็กน้อย

7. วันเสาร์ ปลูกเรือนจะเกิดพยาธิ หรือเลือดตกยางออก ทำแล้ว 4 เดือนจะลำบาก ห้ามไม่ให้ทำแล

ลักษณะเรือนไทยอีสาน




คำว่า “บ้าน “ กับ “เฮือน” (ความหมายเช่นเดียวกับ “เรือน”) สำหรับความเข้าใจของ ชาวอีสานแล้วจะต่างกัน คำว่า “บ้าน” มักจะหมายถึง “หมู่บ้าน” มิใช่บ้านเป็นหลัง ๆ เช่น บ้านโนนสมบูรณ์ บ้านนาคำแคน หรือบ้านดงมะไฟ เป็นต้น ส่วนคำว่า “ เฮือน” นั้นชาวอีสานหมายถึงเรือนที่เป็นหลัง ๆ
นอกจากคำว่า “เฮือน “ แล้ว อีสานยังมีสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะการใช้สอยใกล้เคียงกัน แต่รูปแบบแตกต่างกันไป เช่น คำว่า “โฮง” หมายถึงที่พักอาศัยใหญ่กว่า “เฮือน” มักมีหลายห้อง เป็นที่อยู่ของเจ้าเมืองหรือเจ้าครองนครในสมัยโบราณ
คำว่า “คุ้ม” หมายถึง บริเวณที่มี “เฮือน” รวมกันอยู่หลาย ๆ หลัง เป็นหมู่อยู่ในละแวกเดียวกัน เช่น คุ้มวัดเหนือ คุ้มวัดใต้ และคุ้มหนองบัว เป็นต้น คำว่า “ตูบ” หมายถึง กระท่อมที่ปลูกไว้เป็นที่พักชั่วคราว มุงด้วยหญ้าหรือใบไม้
ชาวอีสานมีความเชื่อในการสร้างเรือนให้ด้านกว้างหันไปทางทิศตะวันออกและตะวันตก ให้ด้านยาวหันไปทางทิศเหนือและใต้ ซึ่งเป็นลักษณะที่เรียกว่า วางเรือนแบบ “ล่องตาเว็น” (ตามตะวัน) เพราะถือกันว่า หากสร้างเรือนให้ “ขวางตาเว็น” แล้วจะ “ขะลำ” คือเป็นอัปมงคลทำให้ผู้อยู่ไม่มีความสุข
บริเวณรอบ ๆ เรือนอีสานไม่นิยมทำรั้ว เพราะเป็นสังคมเครือญาติมักทำยุ้งข้าวไว้ใกล้เรือน บางแห่งทำเพิงต่อจากยุ้งข้าว มีเสารับมุงด้วยหญ้าหรือแป้นไม้ เพื่อเป็นที่ติดตั้งครกกระเดื่องไว้ตำข้าว ส่วนใต้ถุนบ้านซึ่งเป็นบริเวณที่มีการใช้สอยมากที่สุด จะมีการตั้งหูกไว้ทอผ้า กี่ทอเสื่อ แคร่ไว้ปั่นด้วย และเลี้ยงลูกหลาน
นอกจากนั้นแล้ว ใต้ถุนยังใช้เก็บไหหมักปลาร้า และสามารถกั้นเป็นคอกสัตว์เลี้ยง ใช้เก็บเครื่องมือเกษตรกรรม ตลอดจนใช้จอดเกวียน
อย่างไรก็ตามการจัดวางแผงผังของห้องและองค์ประกอบต่าง ๆ ในเรือนไทยอีสานมีดังนี้

1. เรือนนอนใหญ่ จะวางด้านจั่วรับทิศตะวันออก-ตะวันตก (ตามตะวัน) ส่วนมากจะมีความยาว 3 ช่วงเสา เรียกว่า “ เรือนสามห้อง” ใต้ถุนโล่ง ชั้นบนแบ่งออกเป็นสามส่วนคือ
1.1 ห้องเปิง เป็นห้องนอนของลูกชายมักไม่กั้นห้องด้านหัวนอนมีหิ้งประดิษฐานพระพุทธรูปหรือสิ่งเคารพบูชา เช่น เครื่องราง ของขลัง เป็นต้น

1.2 ห้องพ่อ-แม่อาจกั้นเป็นห้องหรือบางทีก็ปล่อยโล่ง

1.3 ห้องนอนลูกสาว มีประตูเข้ามีฝากั้นมิดชิดหากมีลูกเขยจะให้นอนในห้องนี้ซึ่ง ชาวอีสานเรียกว่า” ห้องส่วม”

ส่วนชั้นล่างของเรือนนอนใหญ่ อาจใช้สอยได้อีกกล่าวคือ กั้นเป็นคอกวัวควาย ตั้งแคร่นอนพักผ่อนในตอนกลางวัน และทำหัตถกรรมจักรสานถักทอของสมาชิกในครอบครัวเก็บอุปกรณ์การทำนาทำไร่ เช่น จอบ เสียม คราด ตลอดจนเกวียน เป็นต้น

2. เกย (ชานโล่งมีหลังคาคลุม) เป็นพื้นที่ลดระดับลงมาจากเรือนนอนใหญ่ มักใช้เป็นที่รับแขก ที่รับประทานอาหาร และใช้เป็นที่หลับนอนของลูกชายและแขกเหรื่อที่กลับมาจากงานบุญในตอนค่ำคืนส่วนของใต้ถุนจะเตี้ยกว่าปกติ ซึ่งอาจใช้เป็นที่เก็บฟืนหรือสิ่งของที่ไม่ใหญ่โตนัก

3. เรือนแฝด เป็นเรือนตรงจั่วเช่นเดียวกับเรือนนอน ในกรณีที่พื้นทั้งสองหลังเสมอกันโครงสร้างทั้งคานพื้นและขื่อหลังคาจะฝากไว้กับเรือนนอน แต่หากเป็นเรือนแฝดลดพื้นลงมามากกว่าเรือนนอนก็มักเสริมเสาเหล็กมารับคานไว้อีกแถวหนึ่งต่างหาก

4. เรือนโข่ง มีลักษณะเป็นเรือนทรงจั่วเช่นเดียวกับเรือนนอนใหญ่ แตกต่างจากเรือนแฝดตรงที่ โครงสร้างของเรือนโข่ง จะแยกออกจากเรือนนอนโดยสิ้นเชิง สามารถรื้อถอนออกไปปลูกใหม่ได้โดยไม่กระทบกระเทือนต่อเรือนนอน

การต่อเชื่อมของชายคาทั้งสองหลังใช้รางน้ำ โดยใช้ไม้กระดาน 2 แผ่น ต่อกันเป็นรูปตัววีแล้วอุดด้วยชันผสมขี้เลื่อย ในกรณีที่เรือนไม่มีครัวก็สามารถใช้พื้นที่ส่วนเรือนโข่งนี้ทำครัว ชั่วคราวได้

5. เรือนไฟ (เรือนครัว) ส่วนมากจะเป็นเรือน 2 ช่วงเสามีจั่วโปร่งเพื่อระบายควันไฟ ฝานิยมใช้ไม้ไผ่สานลายทแยงหรือลายขัด

6. ชานแดด เป็นบริเวณนอกชานเชื่อมระหว่างเกย เรือนแฝดกับเรือนไฟ มีบันไดขึ้นด้านหน้าเรือน มี “ฮ้างแอ่งน้ำ” (ร้านหม้อน้ำ) อยู่ตรงขอบของชานแดด บางเรือนที่มีบันไดขึ้นลงทางด้านหลังจะมี “ชานมน” ลดระดับลงไปเล็กน้อยโดยอยู่ด้านหน้าของเรือนไฟ เพื่อใช้เป็นที่ล้างภาชนะตั้งโอ่งน้ำและวางกระบะปลูกพืชผักสวนครัวต่าง ๆ


รูปแบบของเรือนไทยอีสาน

รูปแบบของเรือนไทยอีสานสามารถแบ่งได้ตามประเภทของการพักอาศัย เพื่อตอบสนองประโยชน์ใช้สอยในวาระต่าง ๆ กันดังต่อไปนี้
1. ประเภทชั่วคราว หรือใช้เฉพาะฤดูกาล ได้แก่ “เถียงนา” หรือ”เถียงไร่” ส่วนใหญ่จะ ยกพื้นสูง เสาเรือนใช้ไม้จริง ส่วนโครงใช้ไม้ไผ่ หลังคามุงหญ้าหรือแป้นไม้ที่รื้อมาจากเรือนเก่า พื้นเป็นไม้ไผ่สับ ในกรณีที่ไร่นาอยู่ไม่ไกลจากเรือนพักสามารถไปกลับได้ภายในวันเดียวจะไม่นิยมกั้นฝา หากต้องค้างคืนก็มักกั้นฝาด้วย “แถบตอง” คือสานไม้ไผ่เป็นตารางขนาบใบต้นเหียงหรือ ใบต้นพวง ซึ่งจะทนทายอยู่ราว 1-2 ปี

2. ประเภทกึ่งถาวร เป็นเรือนขนาดเล็กที่ไม่มั่นคงแข็งแรงนักชาวอีสานเรียกว่า ”เรือนเหย้า” หรือ “เฮือนย้าว” เป็นการเริ่มต้นชีวิตการครองเรือน และค่อย ๆ เก็บหอมรอมริบไป สู่การมีเรือนถาวรในที่สุด

ผู้ที่จะมี” เรือนเหย้า” นี้จะเป็นเขยของบ้านที่เริ่มแยกตัวออกไปจากเรือนใหญ่( เรือนพ่อแม่)

เพราะในแง่ความเชื่อของชาวอีสาน เรือนหลังเดียวไม่ควรให้ครอบครัวของพี่น้องอยู่ร่วมกันหลายครอบครัวในบ่านหลังหนึ่ง ๆ ควรมีเขยเดียวเท่านั้นหากมีเขยมากกว่าหนึ่งคนมาอยู่ร่วมชายคาเดียวกันถือว่าจะเกิด “ ขะลำ” หรือสิ่งอัปมงคล

เรือนประเภทนี้วัสดุก่อสร้างมักไม่พิถีพิถันนัก อาจเป็นแบบ “ เรือนเครื่องผูก” หรือเป็นแบบผสมของ “เรือนเครื่องสับ” ก็ได้

เรือนประเภทกึ่งถาวรนี้สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือ

2.1 เรือนเหย้ากึ่งถาวรชนิด”ตูบต่อเล้า” เป็นเรือนที่อิงเข้ากับตัวเล้าข้าว ซึ่งมีอยู่เกือบทุกครัวเรือนมีลักษณะคล้ายเพิงหมาแหงนทั่วไปด้านสูงจะไปอาศัยโครงสร้างของเล้าข้าวเป็น ตัวยึด ต่อหลังคาลาดต่ำลงไปทางด้านข้างของเล้า แล้วใช้เสาไม้จริงตั้งรับเพียง 2-3 ต้น มุงหลังคาด้วยหญ้าหรือสังกะสี ยกพื้นเตี้ย ๆ กั้นฝาแบบชั่วคราว อาศัยกันไปก่อนสักระยะหนึ่ง พอตั้งตัวได้ก็จะย้ายไปปลูกเรือนใหญ่ถาวรอยู่เอง ตรงส่วนที่เป็น “ตูบต่อเล้า” นี้ก็ทิ้งให้เป็นที่นอนเล่นของพ่อแม่ต่อไป

2.2 เรือนเหย้ากึ่งถาวรชนิด “ดั้งต่อดิน” เป็นเรือนพักอาศัยที่แยกตัวออกจากเรือนใหญ่ทำนองเดียวกัน “ตูบต่อเล้า” แต่จะดูเป็นสัดส่วนมากกว่า ขนาดของพื้นที่ค่อนข้างน้อยกว้างไม่เกิน 2 เมตร ยาวไม่เกิน 5 เมตร นิยมทำ 2 ช่วงเสา คำว่า “ดั้งต่อดิน” เป็นคำเรียกของชาวไทยอีสาน ที่หมายถึง ตัวเสาดั้งจะฝังถึงดินและใช้ไม้ท่อนเดียวตลอดสูงขึ้นไปรับอกไก่

วิธีสร้าง “ดั้งต่อดิน” มักใช้ผูกโครงสร้างเหมือนกับเรือนเครื่องผูกตัวเสาและเครื่องบนนิยมใช้ไม้จริงทุบเปลือก หลังคามักมุงด้วยหลังคาทีกรองเป็นตับแล้วเรียกว่า “ไฟหญ้า” หรือใช้แป้นไม้ที่รื้อมาจากเรือนใหญ่

ฝาเรือนมักใช้ฝาแถบตองโดยใช้ใบกุงหรือใบชาดามาประกบกับไม้ไผ่สานโปร่งเป็นตาราง หรือทำเป็นฝาไม้ไผ่สับฟากสานลายขัดหรือลายสองทแยงตามแต่สะดวก ส่วนพื้นนิยมใช้พื้นสับฟากหรือใช้แผ่นกระดานปูรอง โดยใช่ไม้ไผ่ผ่าซีกมามัดขนาบกันแผ่นกระดารขยับเลื่อน

2.3 เรือนเหย้ากึ่งถาวรชนิด “ดั้งตั้งคาน” ยังอยู่ในประเภทของเรือนเครื่องผูกมีความแตกต่างจากเรือน”ดั้งต่อดิน” ตรงที่เสาดั้งต้นกลางจะลงมาพักบนคานของด้านสกัดไม่ต่อลงไป ถึงดิน ส่วนการใช้วัสดุมุงหลังคา ฝาและพื้นเรือนจะใช้เช่นเดียวกับเรือนประเภท “ดั้งต่อดิน”

3. ประเภทถาวร ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็น “เรือนเครื่องสับ” สังเกตได้จากการเลือกใช้วัสดุ รูปแบบของการก่อสร้างประโยชน์ใช้สอยและความประณีตทางช่าง อาจจำแนกเรือนถาวรได้เป็น 3 ชนิดดังนี้

3.1 ชนิดเรือนเกย มีลักษณะใต้ถุนสูง หลังคาทรงจั่วเสาใช้ไม้กลม 8 เหลี่ยม หรือเสา 4 เหลี่ยม ตัวเรือนประกอบด้วยเรือนใหญ่ เกย ชานแดด เรือนไฟ และฮ้างแอ่งน้ำ (ร้านหม้อน้ำ)

3.2 ชนิดเรือนแฝด มีลักษณะใต้ถุนสูงและใช้เสากลมหรือเสาเหลี่ยมเช่นเดียวกัน ตัวเรือนประกอบด้วยเรือนใหญ่ เรือนแฝด เกย ชานแดด เรือนไฟ ฮ้างแอ่งน้ำ

3.3 ชนิดเรือนโข่ง มีลักษณะใต้ถุนสูงและใช้เสากลมหรือเสาเหลี่ยม มีจั่วแฝดอยู่ชิดติดกัน ไม่นิยมมีเกย เรือนชนิดนี้ประพกอบด้วย เรือนใหญ่ เรือนโข่ง ชานแดด เรือนไฟ และฮ้างแอ่งน้ำ

วิถีชีวิตของคนอีสานข้อปฏิบัติในการดำเนินชีวิตของคนอีสาน


คองสิบสี่ คือ วิถีปฏิบัติในการดำเนินชีวิตของคนอีสาน โดยต้องอยู่ในหลักธรรมและคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก รองลงมาคือคำสั่งสอนของบรรพบุรุษ

คองสิบสี่ หมายถึง กฎข้อบังคับในการครองตน แบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย ฝ่ายพระราชา ฝ่ายพระสงฆ์ ฝ่ายบุคคลทั่วไป โดยแต่ละฝ่ายก็จะมี คองสิบสี่ แตกต่างกันไป
ครอบสิบสี่ข้อ - กฎหมายสำหรับพระราชาผู้ปกครองบ้านเมืองพึงปฏิบัติ เพื่อไพร่ฟ้า ข้าแผ่นดินมีความสุขร่มเย็น (ถอดออกมาจากคำกลอนโดยไม่เปลี่ยนแปลงสำนวนเดิม)

คองสิบสี่ของพระชารา
ข้อหนึ่ง เป็นท้าวพระยาจัดตั้งแต่ง ซื่อซามนามกร เสนาอามาตย์ ราชมุนตรี พิจารณา สืบหา ผู้ซื่อผู้คด ผู้ฮ้ายผู้ดี ผู้ช่างแถลงแปงลิ้น มักสับส่อถ้อยคำอันหนักอันเบา อันน้อยอันใหญ่ ให้ไว้ในใจ นั้นก่อ สมที่จะฟัง จิ่งฟัง บ่สมที่จะฟังอย่าฟัง สมตั้ง ใจซื่อ ให้เพียงใดจิ่งตั้งใจเพียงนั้น ให้แต่งตั้งผู้ซื่อสัตย์สุจริตให้หมั่นเที่ยง ผู้ฮู้จัก ราชการบ้านเมือง แต่ก่อนมา บ่มข่มเห็งไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ให้หายใจเข้าออก ได้ จิ่งตั้งให้เป็นเสนาอามาตย์
ข้อสอง เป็นท้าวพระยา ให้เนามุนตรี เป็นสามัคคีพร้อมเพียงกัน ให้หมั่นประชุมกัน อย่าให้ขาด อันใดอันหนึ่งจักให้อาณัติข้าเสิก (ข้าศึก) เกรงขาม และให้เขาอยู่ ในเงื้อมมือเจ้าตน ด้วยยุทธกรรมปัญญา ให้บ้านเมืองก้านกุ่งฮุ่งเฮือง เป็นที่ กว้างขวาง ให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินอยู่เย็นเป็นสุข อย่ากดขี่ข่มเห็ง เทอญ
ข้อสาม เป็นท้าวพระยา เถิงวันขึ้นสังขารปีใหม่ ถ่ายสังวาสมาสเกณฑ์ ให้เชิญพระแก้ว พระบาง พระพุทธฮูป สรงน้ำอบ น้ำหอม ไว้ในสระพัง สักการะ ด้วยดอกไม้ ธูป เทียน ฟังธรรมจำศีล คบงัน 7 วัน ทุกๆ วัดให้เป็นการซื่นซมยินดีแก่พระศาสนา ตบพระเจดีย์ทราย บูชาเทวดาทั้งหลายทางน้ำทางบก บ้านเมืองจิ่งวุฒิซุ่มเย็น น้ำฟ้าสายฝน เข้าไฮ่เข้านาบริบูรณ์
ข้อสี่ เป็นทางพระยา วันสังขารขึ้น ให้นิมนต์พระภิกขุ แห่น้ำฝ่ายใต้เมือฝ่ายเหนือ วันสังขารพักให้ฝ่ายเหนือมาวัดฝ่ายใต้ เพื่อบูชาเทวดา หลวงไปยามหัวเมือง ท้ายเมือง ของทุกๆ ฤดูปี บ้านเมืองจิ่งวุฒิจำเริญ ให้ราษฎรอาบน้ำอบน้ำหอม หดสรงพระภิกษุสงฆ์บ้านเมือง จิ่งอยู่เย็นเป็นสุข ให้ราษฎรแต่งหม้ออุบัง เพื่อ กั้งบังโพยภัยอันตรายแก่ราษฎรทั่วไป เทอญ
ข้อห้า เป็นท้าวพระยา วันสังขารปีใหม่ ให้เสนาอามาตย์ ราชมุนตรี พญาเพีย ท้าวขุน หัวบ้านหัวเมือง ตำหรวดอาสา มหาดเล็กสีพายใต้แจก มีเทียนคู่ขึ้นทูนเกล้า ทูนกระหม่อมถวายราชบาส เพียกะซักมุงคุลถวายพานหมากหมั้นหมากยืน ปุโรหิตถวายพร ให้มีอายุ วัณโณ สุขัง พะลัง แก่องค์พระเจ้ามหาชีวิต แล้วเอา น้ำมหาพุทธาภิเศก อันพระรัสสิไปสถาปนาไว้ ถ้ำนกแอ่นถ้ำนางอั่น อันชื่อว่า น้ำเที่ยงนั้น แห่มาสรงพระพุทธฮูปวัดหลวง ในเมืองทุกวัด ในถ้ำติ่งทวารทวารา ที่ปากน้ำอู ประตูเมืองฝ่ายเหนือ แล้วจิ่งนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ นำบาลีพระพุทธ- ฮูป ในพระราชวังตามธรรมเนียม จิ่งเป็นอันโครพย่ำแยง แด่พระสงฆ์เจ้าถืก ต้อง ตามพระอรรถกถาจารย์ กล่าวไว้หั้นแล
ข้อหก เป็นท้าวพระยาในวันสังขาร เป็นวันเสี้ยงฤดูเก่า ปีใหม่จักมาเถิง ให้เจ้านาย เสนา ข้าราชการ มุนตรีผู้มีนามยศ และเพียหัวหลิ่งหัวพัน หัวบ้านหัวเมือง สิบเอ็ดฮ้อยน้อยใหญ่ ซึ่งเป็นข้าน้อยขันฑสีมาตำบล เข้ามาถือน้ำพิพัฒน์ สัตยานุศัตย์ต่อพระพักตร์ พระพุทธเจ้า พระสังฆเจ้า ให้เป็นการซื่อสัตย์ ต่อ แผ่นดิน ป้องกันก่อให้ขบถคึดฮ้ายต่อแผ่นดิน
ข้อเจ็ด ท้าวพระยา คันเถิงฤดูเดือนเจ็ด ให้เลี้ยงเทพยดาอาฮักษ์ มเหศักดิ์ หลักเมือง ตาเมือง เสื้อเมือง ทรงเมือง ตามคองสิบสี่ แล้วให้เชิญเทพดาอาฮัก มเหศักดิ์ ให้เข้ามาซำฮะบ้านเมือง ป้องกันอันตราย ตามบูฮานราชประเพณีสั่งไว้ว่า เมืองชั่วบ่มีธรรมเป็นเครื่องคุ้มครอง ได้เอาไสยศาสตร์คือ ผีเมืองคุ้มครอง จิ่งมีฤทธิ์อันนี้สืบต่อมา เพื่อบ่ให้เกิดอันตรายโพยภัย ด้วยผีสางคางแดง
ข้อแปด เป็นท้าวพระยา คันเถิงเดือนแปด ให้สูตรซำฮะบ้านเมือง สืบซะตาเมือง บูชา เทวดาอาฮักษ์ทั้งแปดทิศ บูชาพระรัสสีทั้งแปด สองพี่น้องพระยานาค 15 ตระกูล สูตรเถิงสามวันเจ็ดวัน แล้วให้ราษฎรฮอบเมืองยิงปืน หว่านหินแห่และ ทราย เพื่อให้หายพยาธิโรคา โพยภัยอันตราย ให้อยู่เย็นเป็นสุขแก่บ้านเมือง ทุกประการ
ข้อเก้า เป็นท้าวพระยาคันเถิงเดือนเก้า จำเริญ (ดับ) ให้ป่าวเตินราษฎรบ้านเมืองท่าน ห่อเข้าประดับดิน ไปหาปู่ย่าตายาย ลูกเต้า หลานเหลน อันเถิงแก่อนิจกรรม ไปสู่ ปรโลก ทั่วทุกแห่งแล้ว ให้เจ้านายเสนาข้าราชการ ทั่วบ้านเมืองสิบฮ้อย น้อยใหญ่ ลงมือถือน้ำพระพิพัฒนิสัยานุศัตย์อีกเทื่อหนึ่ง แล้วซ่วงเฮือฉลอง อุสุภนาคราช ปากดงและปากคาน กับพระยานาคสิบห้าตระกูล อันฮักษา บ้านเมือง จิ่งจะอยู่เย็นเป็นสุข เข้าก้าไฮ่นาบริบูรณ์
ข้อสิบ เป็นท้าวพระยา คันเถิงเดือนสิบเพ็งให้ป่าวราษฎร ให้ทานสลากภัตร หยาดน้ำ อุทิศไปหาเทพดาอาฮักษ์เมือง อันฮักษาพระพุทธศาสนา กับทั้งพ่อแม่เผ่าพงษ์ วงศาแห่งตนเทอญ
ข้อสิบเอ็ด เป็นท้าวพระยา เถิงฤดูเดือนสิบเอ้ดเพ็ง ให้ฉลองพุทธาภิเศก พระธาตุจอมศรี ทุกๆ ปีอย่าขาด ด้วยเป็นศรีบ้านศรีเมือง แล้วให้ไปไหว้พระภิกษุสังฆะเจ้า มา ขอดสิม (ผูกพัทธสีมา) ในสนามแล้วให้สังฆเจ้าปวารณาในที่นั้น คันแล้วกิจ สงฆ์ ให้สูตรถอนสิมนั้นเสีย บ้านเมืองจิ่งวุฒิจำเริญ เสนาอามาตย์จิ่งจักเป็น สามัคคี พร้อมเพียงกันจัดราชการบ้านเมือง จิ่งบ่ขัดข้องแก่กันและกัน คันเถิง แฮมค่ำหนึ่ง ให้ป่าวเตินราษฎรไหลเฮือไฟ บูชาพระยานาคสิบห้าตระกูล บ้านเมืองจิ่งจักอยู่สุขเกษมเติมครองแล
ข้อสิบสอง เป็นท้าวพระยา คันเถิงเดือนสิบสองขึ้นหนึ่งค่ำ ให้เตินหัวบ้านหัวเมือง สิบฮ้อย น้อยใหญ่ในขอบขันฑะสีมา เข้ามาโฮมพระนครหลวงพระบาง เป็นต้นว่า ข้าลาว ชาวดงดอย เพื่อแห่พระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิต ไปลงพ่วง (ด่วง) ส่วงเฮือ และนมัสการพระธาตุศรีธรรมาโสกราช คือ เดือนสิบสองขึ้นสามค่ำ ถือน้ำ ขึ้นสี่ค่ำ สิบสามค่ำ ซ่วงเฮือ ฉลองอุสุภนาคราช วัดหลวงให้เพียวัด มีเฮือ วันละลำ อัครมหาเสนาบดีตั้งแต่เมืองแสนเมืองจันทน์ ลงไปเถิงศรีสะคุต เมือง แกนาใต้นาเหนือ ให้ตั้งเป็นผามทุกตำแหน่ง เป็นเทศกาลบุญส่วงเฮือ ฉลอง พระยานาค 15 ตระกูล และพระเสื้อเมือง ทรงเมือง อาฮักษ์เมือง และมีเครื่อง กิยาบูชา เป็นต้นว่า โภชนะอาหาร ดอกไม้ ธูป เทียน สวายไปหาเทพยดา ทั้ง ทางน้ำและทางบก จิ่งจักอวยพร แก่บ้านเมืองอยู่เย็นเป็สุข และเดือนสิบสอง เพ็ง เสนาอามาตย์ และเจ้าราชคณะสงฆ์ ราษฎร พร้อมกันแห่พระบาทสมเด็จ พระเจ้ามหาชีวิต และเจ้าย่ำขม่อมทั้งห้าพระองค์ไปนมัสการพระธาตุศรีธรรมา โศกราช พร้อมทั้งเครื่องบูชา มีต้นเทียนและดอกไม้ บั้งไฟดอก ไฟหาง กะทุน ว่าย กองปิด กองยาวฮูปหุ่นละคอน ลิงโขนและเครื่องเล่นมหรสพต่างๆ ไปเล่น อยู่ที่เดิ่นหน้าพระลาน พระธาตุถ้วนสามวัน สามคืนแล้ว จิ่งเสด็จคืนมาเทอญ เพื่อให้เป็นที่ชื่นชมยินดีซึ่งกันและกัน ข้าลาวชาวดอยทั้งหลาย ก็จักได้เห็นกัน และกัน และจักได้เว้าลมกัน เป็นมิตรสหายแก่กันและกัน จิ่งจักเป็นเกียรติยศ ฤชา ปรากฏแก่หัวบ้านเมืองน้อยใหญ่ อันอยู่ใกล้เคียงนั้นซะแล
ข้อสิบสาม เป็นท้าวพระยา ให้แต่งแปงทาวทุกอย่าง เป็นต้นว่า ถวายผ้ากะฐินและบวช พระหดเจ้า ตั้งมะไลไขมหาชาติ ฮักษาศีลห้าศีลแปดเป็นนิจกาล ทุกวันอุโบสถ และมีหัวใจอันเต็มไปด้วยพรหมวิหารทั้ง 4 ประการ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่เสนาอามาตย์ ราษฎร ข้าน้อยใหญ่ ในขอบเขต ขัณฑะสีมา อย่ามีใจอันกระด้างกระเดื่อง เคืองไปด้วยพาล เป็นต้นว่า ไปหลิ้น ป่าล่าเนื้อ จุ่งเลี้ยงนักปราชญ์ผู้อาจให้แก้วยังกิจการเอาไว้ และให้มีเสนา อามาตย์ผู้ฉลาดกล้าหาญกับทั้งสมณะชีพราหมณ์ ผู้ดีมีศีลบริสุทธิ์และความฮู้ สั่งสอนทายก อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลายเทอญ และให้ประกอบด้วย ทศพิธ- ราชธรรมสิบประการ บ้านเมืองจิ่งจะวุฒิจำเริญ แล
ข้อสิบสี่ เป็นท้าวพระยาให้มีสมบัติ อันประเสริฐ 14 ประการ คือ
หูเมือง ได้แก่ราชฑูตผู้ฉลาดอาจนำเข้าออกต่างประเทศ
ตาเมือง ได้แก่ทางหนังสือผู้ฉลาดอาจสอนอักขระบาลี
แก่นเมือง ได้แก่พระสังฆะเจ้าฉลาดทรงธรรมทรงวินัย
ประตูเมือง ได้แก่เครื่องศาสตราวุธทั้งหลายต่างๆสั่งสมไว้
ฮากเมือง ได้แก่โหราศาสตร์อาจฮู้เหตุฮ้ายและดี
เหง้าเมือง ได้แก่เสนาผู้เฒ่าแก่กล้าหาญมั่นคง
ขื่อเมือง ได้แก่กวนบ้านและตาแสงราษฎรผู้ซื่อสัตย์
ฝาเมือง ได้แก่ทแกล้วทหารผู้สามารถอาจทำยุทธกรรมกับข้าศึกชนะได้
แปเมือง ได้แก่ท้าวพระยาองค์ประกอบด้วยศีลธรรมอันดีล้วน
เขตเมือง ได้แก่ เสนาอามาตย์ ผู้ฉลาดฮู้เขตบ้านเมืองดินเมือง ว่าที่นั่นดีหรือบ่ มีคุณ หรือมีโทษ ฯลฯ
สติเมือง ได้แก่เศรษฐีและพ่อค้าผู้มั่งมีเป็นดีฯลฯ
ใจเมือง ได้แก่หมอยาวิเศษฮู้พยาธิใช้ยาถืกฯลฯ
ค่าเมือง ได้แก่ภาคพื้นภูมิประเทศและพลเมืองฯลฯ
เมฆเมือง ได้แก่ เทพยดาอาฮักษ์ทั้งหลายเขตบ้านเมือง
ดังมีคำบรรยายไว้เป็นกลอนดังนี้
หูเมืองนั้น ได้แก่ ทูตาผู้คนดีฉลาด อาจนำความนอกพุ้นมาเข้าสู่เมือง ตาเมืองนั้น ได้แก่ นายหนังสือ เว้าคนดีผู้ฉลาด สามารถสอนสั่งให้บาลีก้อม คู่ซู่แนว สอนหมู่แถวพันธุ์เซื้อวงศ์ วานน้อยใหญ่ อันแก่นเมือง ได้แก่ สังฆะเจ้าผู้ทรงธรรมวินัยสูตรนี้ละเป็นแก่นแท้เมืองบ้านแห่งเฮา ประตูเมือง ได้แก่ ปืนหรือหน้าลาหลาว ง้าวหอก เครื่องอาวุธทุกชั้น ให้หั้นแหม่นประตู ที่พวกเสนา ข้ามนตรีฮักษาอยู่ ฮากเมือง นั้นได้แก่ โหราเจ้าหมอโหรผู้ฉลาด ฮู้เหตุดีและฮ้ายสิมาเข้าสู่เมือง เหง้าเมืองนั้น ได้แก่ เสนาผู้คนหาญเฒ่าแก่ เป็นผู้คงเที่ยงหมั้น บ่ผันลิ้นเปลี่ยนแปร อันขื่อเมือง ได้แก่ ตากวนบ้าน ตาแสงผู้สัตย์ซื่อ ราษฎรก็หากสุขอยู่ด้วยดอมเจ้าคู่ซู่กัน ฝาเมืองนั้น ได้แก่ พลาหาญกล้า โยธาทแกล้วเก่ง กับทหารผู้กล้าอาจฟันข้าหมู่เขา กับข้าเสิกสิเข้ามายาดชิงเมือง แปเมืองนั้น ได้แก่ คุณพระยาเจ้า ผู้ทรงธรรมทศราช เป็นผู้อาจเก่งกล้าผญาล้ำลื่นคน ผู้ตั้งในธรรม พร้อมและศีลธรรมสัตย์ซื่อ เป็นผู้ดียิ่งล้ำ พลข้าอยู่เกษม เขตเมืองนั้น ได้แก่ เสนา ข้ามนตรี ผู้อามาตย์ ผู้ฉลาดอาจรู้เขตบ้านและเขตเมือง บ่อนนั้นดีหรือฮ้ายมีคุณหรือบ่ นี้ละเป็นเขตบ้าน เมืองแท้อย่างดี สติเมือง ได้แก่ เศรษฐีเจ้า ผู้เป็นดีมีมั่ง และ ผู้ตั้งตลาดซื้อค้า หาซื้อจ่ายของ ผู้ที่ ทำถืกต้องครองราชธรรมเนียม บ่แม่นแนวโจโรหลอกหลอนลวงต้ม นี้ละเจ้าสติเมืองเกินมันแม่น อันใจเมือง ได้แก่ แพทย์ผู้ฮู้ยาแก้ใส่คน อันไทเฮาเรียกว่า หมอกล้า ผู้หายามาปัวปิ่น ฮู้จักพยาธิ ฮ้ายยาแก้ถืกกัน นี้ละเป็นใจแท้เมืองคนเจริญยิ่ง อีกค่าเมือง ได้แก่ ภูมิภาคพื้นดินฟ้าค่าแพง ภูมิประเทศ บ่อนแล้งหรือชุ่มดินงามอีกทั้งชาวพลเมืองก็ดั่งเดียวกันแท้ ผู้สิทำคุณให้เมืองตน เจริญเด่นและดินฟ้าหมู่นั้นสำคัญแท้กว่าเขา นี้ละสินำผลมาหลายอย่าง ของต่างๆ หมากไม้ ก็มี ด้วยแผ่นดิน เมฆเมืองนั้น ได้ เทพดาเจ้า มหาศักดิ์ตนอาจ อาฮักขาอยู่เฝ้าแถวนั้นเขตเมือง นี้กะ ดีเหลือล้นฮักษาสุขยิ่ง นี้กะเป็นมิ่งบ้านเมืองแท้อย่างดี มันหากเหมิดท่อนี้ครองราชราชาฯ
บทกลอนนี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความเฟื่องฟูรุ่งเรือง ทางวรรณคดีของชาวอีสานว่า มีอัจฉริยะ หรือเป็นเจ้าบทเจ้ากลอนเพียงใด แม้แต่จารีตประเพณี อันเป็นกรอบสำหรับประพฤติปฏิบัติของ แต่ละบุคคล ตลอดจนกระทั่งกติกาในการปกครองบ้านเมือง สำหรับชนชั้นปกครอง ประดุจ รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีของประเทศอังกฤษ ก็ยังจารึกไว้เป็นบทกลอน เพื่อที่จะให้เป็นภาษา ที่สละสลวย แพร่หลายจนซึมซาบเข้าถึงจิตใจของสมาชิกในสังคมทุกคนได้ง่าย
คองสิบสี่ของพระสงฆ์
ข้อหนึ่งให้พระสังฆะเจ้าสูตรเฮียน ธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าและฮักษาศีล 227 อย่าให้ ขาด

ข้อสอง ให้บัวละบัตรกูฏิวิหาร ปัดตากวาดถู อย่าให้วัดเศร้าหมอง
ข้อสามให้ปฏิบัติจัดทำไปตามศรัทธา ชาวบ้านนิมนต์มีการทำบุญให้ทาน บวชหด เป็นต้น
ข้อสี่ เถิงเดือนแปด ให้เข้าวัสสา ตลอดสามเดือน จนถึงเดือนสิบเอ็ดแฮมค่ำหนึ่ง แต่เดือน สิบเอ็ดแฮมค่ำหนึ่งไปหาเดือนสิบสองเพ็ง ให้ฮับผ้ากฐินฮักษาคองผ้าเถิงสี่เดือน
ข้อห้า ออกวัสสาแล้ว ฤดูเหมันตะ (ฤดูหนาว) ภิกขุสังฆะเจ้าเข้าปริวาสกรรม ฯลฯ
ข้อหก ให้เที่ยวไปบิณฑบาตร ตามบ้านน้อยบ้านใหญ่ อย่าให้ขาด
ข้อเจ็ด ให้สูตร ภาวนา ทุกคืน วัน อย่าขาด ฯลฯ
ข้อแปด เถิงวันศีลดับ ศีลเพ็ง ให้ประชุมกันทำอุโบสถ สังฆกรรม อย่าขาด
ข้อเก้า เถิงเทศกาลปีใหม่ ทายกไหว้ขี่วอ แห่น้ำไปสรงน้ำพระพุทธรูป พระธาตุเจดีย์ ฯลฯ
ข้อสิบ สังกาช ปีใหม่ พระเจ้ามหาชีวิต ไหว้พระ ให้สรงน้ำในวันพระราชวัง และบาสี พระสังฆะเจ้า
ข้อสิบเอ็ด ศรัทธาชาวบ้านนิมนต์สิ่งใด อันบ่ผิดคองวินัย ก็ให้ปฏิบัติตาม
ข้อสิบสอง เป็นสมณะให้พร้อมกันสร้างวัดวาอาราม พระธาตุเจดีย์
ข้อสิบสาม ให้ฮับทานของทายก คือ สังฆะภัตร สลากภัตร เป็นต้น
ข้อสิบสี่ พระเจ้ามหาชีวิต เสนาข้าราชการ มีศรัทธานิมนต์ มาประชุมกันในสิมแห่งใด แห่งหนึ่งในวันเดือนสิบเอ็ดเพ็ง เป็นกาละอันใหญ่อย่าได้ขัดขืน
หมายเหตุ คองสิบสี่ประการสำหรับพระสงฆ์นี้ เป็นหลักใหญ่ของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ และได้สะท้อนให้เห็นท่วงทำนองการดำรงชีวิตของพระภิกษุสงฆ์ในบวรพระพุทธ ศาสนา เป็นชีวิตที่เสียสละเพื่อประโยชน์คนส่วนมาก และเป็นคุณให้แก่ทางฝ่าย บ้านเมือง อย่างไม่มีข้อขัดแย้งที่จะเป็นศัตรูกันได้เลย ถ้าสองฝ่ายยึดมั่นในหลัก พระพุทธศาสนาอย่างเข้าร่วมกันจริงๆ

คองสิบสี่ของบุคลทั่วไป
ข้อหนึ่ง เมื่อเข้ากล้าหมากเป็นฮวง เป็นหมากแล้ว อย่าฟ้าวกินก่อน ให้เอาทำบุญให้ทาน แก่ผู้มีศีลกินก่อน แล้วจงกินภายลุน
ข้อสอง อย่าโลภตาส่าย อย่าจ่ายเงินแดง แปงเงินคว้าง และอย่ากล่าวคำหยาบซ้ากล้าแข็ง ต่อกัน
ข้อสาม ให้พร้อมกันเฮ็ดฮั้วต้าย และกำแพงอ้อมวัดวา อาฮาม และบ้านเฮือน
ข้อสี่ เมื่อเจ้าขึ้นเฮือนนั้น ให้สว่ายกล้างตีน เสียก่อนจิ่งขึ้น
ข้อห้า เมื่อเถิงวันศีล 7-8-14-15 ค่ำ ให้สมมา (ขอขมา) ก้อนเส้า แม่คีไฟหัวคันได และ ประตูที่ตนอาศัยซู่ค่ำคืน
ข้อหก เมื่อจักนอนให้เอาน้ำส่วนล้างตีนก่อน จิ่งนอน
ข้อเจ็ด เถิงวันศีล ให้เอาดอกไม้ธูปเทียน สมมาผัวแห่งตน และเถิงวันอุโบสถให้แต่งดอกไม้ ธูปเทียนไปเคนพระสังฆเจ้า
ข้อแปด เถิงวันศีลดับ ศีลเพ็งมานั้น ให้นิมนต์พระสังฆเจ้ามาสูตรมุงคุลเฮือน และทำบุญ ใส่บาตรถวายทาน
ข้อเก้า เมื่อพระภิกขุมาบิณฑบาตรนั้น อย่าให้เพิ่นคอยถ้า และเวลาใส่บาตรก็อย่าซุนบาตร และยามใส่บาตรนั้นอย่าใส่เกิบ (รองเท้า) กั้งฮ่มผ้าปกหัว อุ้มหลาน หรือถือเครื่อง ศาสตราอาวุธ
ข้อสิบ เมื่อพระภิกขุเข้าปริวาสกรรม ซำฮะเบื้องต้นแล้ว ให้แต่งขันดอกไม้ธูปเทียนและ เครื่องอรรถบริขารไปถวายท่าน
ข้อสิบเอ็ด เมื่อเห็นพระภิกขุสังฆะเจ้ากายมา ให้นั่งลงยอมือไหว้ก่อน และจั่งค่อยเจรจา
ข้อสิบสอง อย่าเหยียบย่ำเงาเจ้าพระภิกขุตนมีศีลบริสุทธิ์
ข้อสิบสาม อย่าเอาอาหารเงื่อนกินตนแล้วไปทานให้แก่พระสังฆะเจ้า และเอาไว้ให้ผัวกินจะ กายเป็นบาปได้ อันใดในชาติหน้าก็มีแต่แนวบ่ดี
ข้อสิบสี่ อย่าเสพเมถุน กามคุณ ในวันศีล วันเข้าวัสสา ออกพรรษา วันมหาสงกรานต์ ถ้าดื้อ เฮ็ดได้ลูกได้หลานมา จะบอกยากสอนยาก
ทั้ง 'ฮีตสิบสอง และ คองสิบสี่'สามารถสะท้อนตัวตนที่แท้จริงของคนอีสานในโบราณได้เป็นอย่างดี ถึงแม้ตอนนี้จะมีวัฒนธรรมจากตะวันตก เข้ามาครอบงำ แต่ในคนในภาคอีสานส่วนใหญ่ ยังยึดถือปฏิบัติกันอยู่ แม้จะไม่เคร่งครัดเหมือนเมื่อก่อน แต่ยังพอมีให้เห็น โดยเฉพาะ 'ฮีตสิบสอง'นั้นยังมีให้เห็นอยู่ทั่วไป

"สุขขีมั่นเสมอมันเครือเก่า บ่ได๋เห็นหน้าเจ้า เห็นเสาเฮือนกะยังดี"



อีสานบ้านของเฮา

วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวอีสานนั้นเราอาจรับรู้มาจากหลายๆแหล่งเพลงก็เป็นอีกทางหนึ่งที่สื่อสารให้ได้รุบรู้กัน ชัดเจนบ้าง คลุมเครือบ้างอย่างเพลงๆนี้ที่ อ.เทพพร เพชรอุบล ท่านได้ขัยร้องไว้นานแล้ว ซึ่งเนื้อหาในเพลงสื่อได้ชัดเจนถึงธรรมชาติและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอีสานเนื้อร้องบรรยายได้ดียิ่งนัก

เพลง อีสานบ้านเฮา



หอมดอกผักคะแยงยามฟ้าแดงค่ำลงมา
แอ้บแอ้บเขียดจะนาร้องยามฟ้าฮ้องฮวนฮวน
เขียดโม่เขียดขาคำเหมือนหมอลำพากันม่วน
เมฆดำลอยปั่นป่วนฝนตกมาสู่อีสาน
หมู่หญ้าตีนกั๊บแก้ถูกฝนแลเขียวตระการ
ควายทุยเสร็จจากงานเล็มหญ้าอ่อนตามคันนา
รุ่งแจ้งพอพุ่มพรูตื่นเช้าตรูรีบออกมา
เร่งรุดไถฮุดนารีบนำฟ้าฟ่าวนำฝน
อีสานบ้านของเฮาอาชีพเก่าแต่นานโดน
เอาหน้าสู้ฟ้าฝนเฮ็ดนาไร่บ่ได้เซา เฮ็ดนาไร่บ่ได้เซา


ม่วนเอ้ย...โอ่โอ้โอ่...ฮะโอโอ้โอ...ฮะโอโอ้นอ...
ฮะโอโอ้โอ่..โอโอ่โอ้นอ...ฮะโอโอ้โอ่..โอโอ่โอ้โอ...
โอโอ่โอโอ่โอ้ละนอ...
ม่วยเอ้ยม่วนเสียงกบร้องอ๊บอ๊บกล่อมลำเนา



ผักเม็กผักกะเดาผักกะโดนและผักอีฮีน
ธรรมชาติแห่งบ้านนาฝนตกมามีของกิน
ฝนแล้งแห้งแผ่นดินห้วยบึงหนองแห้งเหือดหาย
มาแนเด้อมาเฮ็ดนามาแนเด้อหล้าอย่าเดินผ่าย
นับวันจะกลับกลายหนุ่มสาวไหลเข้าเมืองกรุง
เสียงแคนกล่องเสีนงซุง ตรุงลุงตรุงล่ะแล่นแตรลุงตรุง
เสียนแคนกล่อมเสียงซอ อ้อนแล้วอ๋ออ้อนอี๋แล้วออ
มาแนเด้อมาช่วยกันก่ออีสานน้อบ้านของเฮา



แหล่งที่มาของข้อมูล
http://bb.kunthaluk.com/viewtopic.php?f=3&t=764
http://www.mv.ac.th/~thaiwisdom/activities6_3.htm
http://www.oknation.net/blog/namsean/2007/10/27/entry-1



7 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

ได้ประโยชน์กับข้อมูลเหล่านี้มากเลยครับ ขอบคุณครับ

อัษฎางค์ กล่าวว่า...

ขอบคุณครับ ที่นำมาลงให้รู้ด้วยคน

Unknown กล่าวว่า...

ขอบคุณมากคะที่ช่วยแชร์ความรู้

ข้อมูลมีประโยชน์จริงๆคะ

Unknown กล่าวว่า...

ถูกทุกข้อเลยนะ

Jiw Arch09 กล่าวว่า...

ขอบคุณครับ ข้อมูลมีประโยชน์จริงๆ

Unknown กล่าวว่า...
ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ
Unknown กล่าวว่า...

เขียนได้ใจแนวอิสานมากค่ะ จะติดตามเรื่อยๆค่ะ

---------------
wedding unity sand set

แสดงความคิดเห็น